ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าในวินาทีนี้แพลตฟอร์มน้องใหม่อย่าง TikTok ช่างมาแรงเสียเหลือเกิน แล้วก็ไม่ใช่แค่ในเมืองไทยบ้านเราแต่กลับกลายเป็นกระแสไปพร้อมกันทั่วโลก จากสื่อออนไลน์ทางเลือกในช่วงก่อน COVID-19 ที่หลายคนปรามาส แต่ตอนนี้กลับประมาทไม่ทำการตลาดบน TikTok ไม่ได้แล้ว ซึ่งตอนนี้ผมเชื่อว่านักการตลาดหลายคนยังคงลังเลใจว่าควรจะลงทุนทำการตลาดใน TikTok หรือไม่? มันจะกลายเป็นแค่กระแสชั่วคราวที่จะผ่านมาแล้วก็ไปอีกหรือเปล่า?
วันนี้ผมมีแนวทางการทำ TikTok Marketing จากประเทศจีนต้นกำเนิดแพลตฟอร์มนี้มาให้ศึกษากันเป็นแนวทาง ลองมาดูกันซิว่าการ Live-streaming บน TikTok ที่ปังๆ จนถึงขั้นทำงานหลักล้านไปจนถึงหลายร้อยล้านนั้นเขาทำกันอย่างไร โดยจะเล่าผ่าน 4 Influencer ดังบน TikTok ที่มีตั้งแต่ซูเปอร์สตาร์คนดังที่เข้ามาขอดังในแพลตฟอร์มนี้ หรือ Influencer ที่แจ้งเกิดตัวเองขึ้นมาจากแพลตฟอร์มนี้เลยจริงๆ และกับคนที่ไม่ได้ดังมากแต่ดังกำลังดีนั้นเขาสร้างยอดขายอย่างไร และสุดท้ายเราจะมาดูเคสของแบรนด์กันว่าเมื่อพวกเขาเข้ามา Live ผ่าน TikTok แล้วได้ผลลัพธ์สู้คนดังหรือคนธรรมดาได้มากน้อยแค่ไหนกันครับ
Grandma Wang เมื่ออายุ 78 ปีไม่ใช่อุปสรรคที่จะเป็น Lifestyle Influencer บน TikTok
Grandma Wang เธอเป็นใคร? แล้วดังแค่ไหนบน TikTok?
- เธอเป็น Top 0.01% ของ KOL บน TikTok
- ยอดวิวโดยเฉลี่ยของเธออยู่ที่ 26 ล้านวิว
- มีผู้ติดตามบน TikTok กว่า 14 ล้านคน
- ค่าโฆษณาแบบ CPM ของช่องเธออยู่ที่ 19.5 หยวน
- Video Engagement เฉลี่ย 4.09%
- wnn111111 คือ ID ของเธอถ้าอยากติดตาม
- วิดีโอ Live ขายของครั้งล่าสุดของเธอทำเงินได้กว่า 5.4 ล้านหยวนในระยะเวลา 7.5 ชั่วโมง
- ถ้าจะลงคลิปโฆษณาในช่องของเธอพร้อมใส่ลิงก์ขายของด้วยอยู่ที่ 350,000 หยวน
- ถ้าให้เธอทำคลิป Live-streaming ขายสินค้าให้ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 100,000 หยวน และบวกคอมมิชชั่น 30%
- 85% ของผู้ติดตาม Grandma Wang เป็นผู้หญิง และ 31% ของผู้ติดตามเธออายุต่ำกว่า 18 ปี
ถ้าดูจากคลิปแนะนำตัวของเธอจะเห็นว่า Grandma Wang คือสาวสูงวัยที่มีไลฟ์สไตล์เก๋ไก๋กว่าผู้หญิงสูงวัยในช่วงวัยเดียวกัน ทำให้เธอกลายเป็นขวัญใจของผู้หญิงทุกวัยได้ไม่ยากและนั่นก็เลยทำให้เธอเป็นขวัญใจของเด็กรุ่นใหม่เพราะน่าจะทำให้พวกเขารู้สึกว่าแก่ตัวไปอยากจะยังมีไลฟ์สไตล์ชิคๆ เหมือน Grandma Wang
ดังนั้นด้วยความดังของเธอจึงทำให้ถ้าใครจะเอาคลิปโฆษณามาฝากเธอลงจึงมีราคาสูงกว่า 350,000 หยวน หรือตีเป็นเงินไทยได้กว่า 1.55 ล้านบาท ทำให้เธอมีรายได้จากค่าฝากคลิปโฆษณาเหล่านี้ต่อเดือนสูงกว่า 2.1 ล้านหยวนหรือกว่า 10 ล้านบาทได้สบายๆ ครับ
เมื่อวิเคราะห์คลิปการ Live ของ Grandma Wang ในเดือนเมษายน 2020 ที่ผ่านมาก็พบว่าจาก 18 สินค้าที่เธอ Live-streaming นั้นทำเงินไปได้กว่า 5.4 ล้านหยวนครับ แล้วกว่า 40% ของสินค้าที่เธอ Live ขายก็คือสินค้าประเภทเครื่องสำอางหรือครีมบำรุงผิวพรรณความสวยความงาม และกลุ่มสินค้าที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเธอกว่า 35% คือขนมขบเคี้ยวและอาหาร
แล้วเมื่อทำการวิเคราะห์ให้ลึกลงไปก็พบว่าราคาสินค่าที่เธอนำมา Live ขายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 150 หยวน แต่สินค้าที่ Grandma Wang Live แล้วขายดีกลับอยู่ที่ราคาระหว่าง 50-100 หยวนครับ
สินค้าที่เธอ Live แล้วขายดีที่สุดคือที่มาร์คหน้าราคา 50 หยวนกับรังนกที่ราคา 98 หยวน ที่ทำเงินได้กว่า 650,000 หยวนจากการ Live ในครั้งนั้น ส่วนเครื่องนวดคอไฟฟ้าที่ราคา 499 หยวนกลับทำเงินได้แค่ 209,000 หยวน กลายเป็นสินค้าที่เธอ Live แล้วทำยอดขายได้ต่ำสุดในเดือนนั้น
เมื่อกลับไปคำนวนจากค่าตัวของเธอในการคิด 100,000 หยวนสำหรับการ Live ขายของหนึ่งครั้งบวกกับค่าคอมมิชชั่น 30% ก็พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วการ Live ของเธอจะทำเงินกลับคืนมาให้นักการตลาดอย่างเราหรือที่เรียกว่า ROI (Return of Investment) ได้ประมาณ 150% โดยถ้าเป็นสินค้าที่มีราคาตั้งแต่ 100 หยวนลงไปจะทำ ROI ได้สูงถึง 190% ของเงินที่ลงทุนจ้างเธอไปแล้วบวกกับค่าคอมมิชชั่น 30% ที่ต้องหักให้เธอด้วย แต่ถ้าเป็นสินค้าที่มีราคาตั้งแต่ 200 หยวนไปกลับไม่ค่อยคุ้มกับการลงทุนเท่าไหร่ครับ
ดังนั้นเราจะเห็นว่าการทำ Marketing บน TikTok นั้น
มีความไม่เหมือนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่น
เราจะเห็นว่า KOL หรือ Influencer บน TikTok อย่าง Grandma Wang นั้นจะเน้นการตลาดผ่านการ Live ขายของเป็นหลัก ดังนั้นนักการตลาดที่จะลงทุนฝากขายผ่าน Influencer นั้นต้องคิดคำนวนต้นทุนดีๆ ว่าค่าตัวของ Influencer บวกค่าคอมมิชชั่นนั้นถ้าจะให้คุ้มที่ลงทุนไปจะต้องขายให้ได้เท่าไหร่ครับ
เพราะจากตัวอย่างของ Grandma Wang เราเห็นแล้วว่าสินค้าอย่างมาร์คหน้าราคา 50 หยวนเมื่อดูจากยอดขายที่เกิดขึ้นแบรนด์ต้องจ่ายออกไป 298,000 หยวน นับเป็น 45% ของรายได้จากยอดขายทั้งหมด และนั่นก็หมายความว่าทางแบรนด์เองเหลือ Margin จากการทำแคมเปญนี้แค่ 55% เท่านั้น
แต่ต้องบอกว่าโชคดีที่สินค้าประเภทนี้นั้นมีอัตราการซื้อซ้ำที่เร็วและสูงกว่าสินค้าอื่น แม้คุณอาจจะไม่ได้กำไรมากจากแคมเปญในครั้งนี้ แต่ถ้า Strategy ของคุณคือเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ผ่าน Influencer ที่มีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างจากลูกค้าเดิมก็ถือว่าเป็นการทำ Marketing ที่คุ้มค่าแก่การลงทุนครับ
แต่ถ้าสินค้าคุณมีราคาค่อนข้างสูงหรือตั้งแต่ 200 หยวน(เกือบหนึ่งพันบาทขึ้นไป) อาจต้องคิดให้ถี่ถ้วนก่อนจะใช้ TikTok เพื่อทำการตลาด เพราะเมื่อดูจากยอดขายที่ Grandma Wang ทำได้กับเครื่องนวดคอไฟฟ้าที่ราคา 499 หยวนนั้นกลับทำรายได้ต่ำกว่าที่มาร์คหน้า 50 หยวนกว่าเท่าตัวทีเดียวครับ
Li Xiaolu เมื่อซูเปอร์สตาร์จีนหันมา Live ขายของบน TikTok
Li Xiaolu เธอคือซูเปอร์สตาร์จีนที่โด่งดังมาจากการเล่นหนังภาพยนต์และทีวีต่างๆ ก่อนจะเข้าสู่วงการ TikTok และความเป็นซูเปอร์สตาร์ของเธอก็กลายเป็นต้นทุนที่ทำให้เธอกลายเป็น Top 3 ของเซเลป TikTok ครับ
- เธอมีผู้ติดตามกว่า 108 ล้านคน
- Live ครั้งล่าสุดของเธอทำเงินไปกว่า 43.5 ล้านหยวนภายในระยะเวลาแค่ 4.5 ชั่วโมง
- เธอคิดค่า Live เริ่มต้นที่ 100,000 หยวนต่อครั้ง บวกกับค่าคอมมิชชั่นจากยอดขายอีกระหว่าง 25-30%
- ID ของเธอคือ yanyualixiaolu
- เธอคือ 1 ใน Top 3 ของสุดยอดเซเลปใน TikTok จีนวันนี้ครับ
จากความโด่งดังของเธอแต่เดิมทำให้เธอกลายเป็นซูเปอร์สตาร์บน TikTok แทบจะในทันทีที่เข้าสู่วงการนี้ ครั้งล่าสุดเธอทำงานจากการ Live ไปได้กว่า 43.5 ล้านหยวน ตีเป็นเงินไทยแบบเร็วๆ ก็เกือบๆ 200 ล้านบาท โดยสินค้าเฉลี่ยที่เธอ Live ขายอยู่ที่ราคาประมาณ 296 หยวนครับ
เมื่อดูจากกราฟวิเคราะห์การทำยอดขายของเธอกับสินค้าในช่วงราคาต่างๆ จะพบว่าแม้ว่าเธอจะดังคับฟ้าที่เมืองจีนเป็นอย่างมาก แต่สินค้าที่เธอสามารถ Live แล้วขายดีก็ยังเป็นสินค้าที่อยู่ในราคาต่ำกว่า 100 หยวนอย่างเห็นได้ชัดครับ แต่ก็มีสินค้าราคาแพงบางตัวที่เธอสามารถทำยอดขายได้ทะลุดุเดือดมากอย่าง KANS ที่เป็นสกินแคร์ชุดละ 699 หยวน แต่สามารถทำยอดขายจากการ Live ได้ถึง 7.7 ล้านหยวน แต่พอเป็นสินค้าอย่าง Baby seat ที่มีราคา 1,799 หยวนเธอกลับทำยอดขายได้เพียง 109,000 หยวนเท่านั้น
แต่เบื้องหลังที่ทำยอดขายได้พุ่งทะลุมากขนาดนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากส่วนลดที่หนักมาก เพราะชุดบำรุงผิว KANS นี้ที่เห็น 699 หยวนนั้นเป็นราคาที่ลดมาแล้วจากปกติถึง 44% นั่นหมายความว่าที่เห็นว่าแพงนั้นไม่ได้แพงจริง แต่มันถูกกว่าปกติเสียเหลือเกิน
ดังนั้นเมื่อคำนวนจากค่าตัวในการรับงาน Live ขายของผ่าน TikTok ของเธอที่อยู่ที่ครั้งละ 100,000 หยวน แล้วบวกกับค่าคอมมิชชั่นส่วนแบ่งจากยอดขายอีก 25-30% ก็ทำให้พบว่าส่วนใหญ่การให้เธอ Live มักจะทำ ROI กลับมาได้เฉลี่ยที่ 230% โดยสินค้าที่เธอสามารถขายได้มากที่สุดคือลิปกรอสยี่ห้อ Colorkey ที่สามารถทำ ROI หรือยอดขายกลับคืนมาจากที่ลงทุนไปถึง 309% โดยเธอสามารถขายออกไปได้ถึง 86,400 แท่ง ในราคาพิเศษแท่งละ 49 หยวน จากปกติ 69 หยวน ซึ่งเป็นราคาเฉพาะช่วงที่เธอ Live ขายผ่าน TikTok เท่านั้น
แต่ก็ไม่ใช่ว่าดังแล้วจะสามารถขายทุกอย่างได้ดี เพราะเมื่อตอนเธอ Live ขายเครื่องชงกาแฟยี่ห้อ Delonghi ราคา 899 หยวน กลับทำยอดขายได้แค่ 99% ของเงินที่ลงทุนไป เอาง่ายๆ คือนักการตลาดที่จ้างเธอขาดทุนนั่นแหละครับ
ถ้ามองระยะสั้นก็คือซูเปอร์สตาร์คนนี้ไม่สามารถทำยอดขายให้แบรนด์เครื่องชงกาแฟ Delonghi ได้อย่างที่คาดหวัง แต่ถ้ามองในระยะยาวกว่าก็คือลูกค้าที่ซื้อเครื่องชงกาแฟไปก็ต้องกลับมาซื้อแคปซูลกาแฟจากแบรนด์อีกครั้ง และนั่นก็ถึงจะเป็นเวลาที่แบรนด์ค่อยถอนทุนคืนและได้กำไร ดังนั้นสิ่งสำคัญคือคุณต้องกำหนด Marketing Strategy ให้ดีก่อนว่าจะจ้าง Influencer บน TikTok ให้ Live ขายสินค้าให้คุณเพื่ออะไรบ้างนอกจากแค่ยอดขายในระยะสั้นที่จะได้มากน้อยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ
แต่ส่วนใหญ่แล้วพบว่าแบรนด์ต่างๆ ที่จะมาฝาก
บรรดาคนดังบน TikTok Live ขายของนั้นต้องให้ส่วนลดหนักมาก
มากขนาดที่ว่าค่าเฉลี่ยแล้วลดกันมากถึง 40% ด้วยซ้ำ แถมยังมีช่วงเวลาพิเศษที่ทางแบรนด์จะมอบคูปองส่วนลดให้เพิ่มอีก 10% ในระยะเวลาที่จำกัด ดูไปดูมาเหมือนว่า TikTok กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางของ TV Direct Sale ที่จีนอย่างไรอย่างนั้นไปแล้วครับ
ทุกวันนี้คำว่า ‘ราคาปกติ’ ที่จีนกลายเป็นตัวเลขที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจะได้ลดราคาได้แบบไม่เข้าเนื้อมากนัก เหมือนที่เราเห็นสินค้าบางอย่างนั้นสามารถลดราคาได้ตลอดเวลา เหมือนอย่างที่ว่าทำไมบนเว็บช้อปปิ้งออนไลน์มากมายถึงสามารถสรรหาสินค้ามาลดราคาได้ทุกวัน ส่วนหนึ่งนั้นเพราะพวกเขาทำการเพิ่มราคาปกติก่อนแล้วค่อยทำเป็นลดราคา ในเมื่อคนส่วนใหญ่ต้องการซื้อสินค้าลดราคาแม้ว่าการลดราคานั้นอาจไม่ได้ลดจริงเสมอไป
ดังนั้นถ้าแบรนด์ไหนต้องการจะขายให้ได้ผ่าน Live-commerce กับ TikTok Influencer คุณต้องเตรียมตัวเลขการลดราคาหนักๆ มากระตุ้นให้คนอยากซื้อ แล้วก็อย่าลืมเผื่อคอมมิชชั่นที่ต้องแบ่งให้ Influencer คน Live ด้วยนะครับ
ซึ่งเมื่อดูว่า Li Xiaolu เธอ Live ขายสินค้าอะไรบ้าง ก็พบว่าเหมือนกับ Grandma Wang อย่างมากตรงที่สินค้าที่ Live ขายบ่อยๆ คือสินค้าประเภทสกินแคร์กับเครื่องสำอาง รวมไปถึงสินค้าอย่างอาหารหรือขนมขบเคี้ยวของกินเล่นครับ แต่เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลลึกลงไปอีกนิดก็ทำให้พบ Insight อีกด้านที่น่าสนใจจากการ Live ขายของเธอว่า ถ้าสินค้าใดที่มาให้เธอ Live ขายซ้ำเป็นครั้งที่สองในระยะเวลาไม่นานมากจากการ Live ครั้งแรกจะไม่สามารถทำยอดขายได้ถล่มทลายเหมือนเดิมอีกต่อไป เรียกได้ว่าตัวเลขยอดขายดรอปลงไปอย่างน่าใจหายเลยก็ว่าได้
เพราะจากตัวเลขยอดขายของเซเลปอีกคนบน TikTok จีนอย่าง Luo Yonghai ที่คิดราคาการ Live ให้แบรนด์แต่ละครั้งอยู่ที่ 600,000-1,200,000 หยวน (ประมาณสองล้านหกถึงห้าล้านสองแสนบาทครับ) ก็พบว่าเธอเคยสร้างสถิติทำยอดขายสูงสุดบน TikTok ด้วยการสามารถขายไปได้ถึง 168 ล้านหยวนในการ Live ให้แบรนด์นั้นเป็นครั้งแรก แต่พอครั้งที่สองมาตัวเลขก็ตกฮวบฮาบดังภาพ ดังนั้นบอกให้รู้เลยว่าถ้าจะใช้เซเลปหรือคนดังบน TikTok ช่วย Live คุณต้องเว้นระยะจากครั้งแรกให้นานหน่อยประมาณว่าลืมไปเลยว่าเคยกดซื้อไปแล้วครับ
ตอนนี้เราดู Influencer เบอร์ใหญ่และซูเปอร์สตาร์ไปแล้ว ลองมาดู Influencer เบอร์กลางที่มีผู้ติดตามสัก 206k ที่ไม่ได้สวยเป็นพิเศษ แต่เธอมีคาแร็กเตอร์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใครครับ
Cai Zhenzhu เธอคือดาว TikTok เบอร์กลางแม้ไม่มีคนติดตามเป็นล้านแต่ก็สร้างเงินหลักแสนได้สบาย
Cai Zhenzhu เธอเป็น Influencer สายแฟชั่นที่เป็นสาวพลัสไซส์ จากการให้ความรู้และเทคนิคการเลือกช้อปปิ้งเสื้อผ้าสำหรับสาวพลัสไซส์ และนั่นก็ทำให้เธอมีกลุ่มผู้ติดตามที่เฉพาะเจาะจงแบบไม่เหมือนใคร แม้คนจะตามน้อยกว่าดาว TikTok เบอร์ใหญ่แต่กลับมีค่าโฆษณาแบบ CPM ที่สูงกว่าถึง 3 เท่า และนี่ก็คือข้อมูลเบื้องต้นของเธอครับ
- คลิปวิดีโอเธอมียอดวิวเฉลี่ยที่ 130,000
- มีผู้ติดตามบน TikTok 260,000
- ID ของเธอคือ 2343937907
- Live ครั้งล่าสุดขายของได้ 20,000 หยวนภายในระยะเวลาแค่ 4 ชั่วโมง
- โฆษณาแบบ CPM ของเธออยู่ที่ 62.4 หยวน สูงกว่า Grandma Wang ถึง 3 เท่า!
- โพสวิดีโอพร้อมลิงก์ e-commerce อยู่ที่ 5,000-6,000 หยวนต่อคลิป
คลิปการแนะนำวิธีการเลือกซื้อเสื้อผ้าและแต่งตัวสำหรับสาวพลัสไซส์จาก Cai Zhenzhu นั้นมีคนเข้ามา Like บน TikTok มากถึง 117,000 ครั้ง ที่ผ่านมาเธอแนะนำสินค้าไปทั้งหมด 24 ครั้ง แต่มีการบันทึกยอดขายไว้ระหว่างที่เธอ Live ขายของแค่เพียง 5 ครั้ง โดยทั้งหมดนั้นเป็นเสื้อผ้าที่มีราคาต่ำกว่า 100 หยวนเท่านั้น จะมีที่เกิน 100 หยวนก็แค่เธอเคยจัดแพ็คขายรองเท้า 3 คู่ในราคา 179 หยวน และก็ขายกระเป๋าถือ(ที่เป็นของก๊อป)ในราคา 109 หยวน
ที่น่าสนใจคือราคาการลงโฆษณาผ่านเธอแบบ CPM สำหรับ Influencer ที่มีคนติดตามแค่หลักแสนอย่างเธอนั้นกลับมีราคาสูงกว่าการลงกับช่อง Grandma Wang มากถึง 3 เท่า นั่นก็เพราะเบื้องหลังการทำงานของ TikTok ที่แตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นคือ
ยิ่งคลิปวิดีโอไหนมีคนดูในช่วงนั้นมากเท่าไหร่ Algorithm ของ TikTok ก็จะยิ่งผลักดันให้มีคนเห็นมากขึ้นเท่านั้น นั่นหมายความถ้าคุณยิ่งดังโอกาสที่คุณจะยิ่งดังขึ้นไปอีกก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งเป็น Influencer หรือ KOL ที่มีความดังมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งสามารถขายของที่มีราคาแพงขึ้นได้มากกว่า Influencer เบอร์เล็ก เพราะแม้แพลตฟอร์ม TikTok จะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการผลักดันให้สามารถค้าขายได้สะดวกบนแพลตฟอร์มเหมือนรุ่นพี่ในจีนอย่าง WeChat ก็ตาม แต่ผู้ที่จะสามารถสร้างรายขายได้มากๆ ก็ยังเป็นแค่ดาว TikTok เบอร์โตเสียเป็นส่วนใหญ่ครับ
และกรณีศึกษาสุดท้ายของการ Live ขายของบน TikTok ที่จะเล่าให้ฟังต่อจากนี้จะเป็นเรื่องของแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในจีน
Glee เมื่อท่านประธานมาลอง Live เพื่อเรียกยอดขายให้แบรนด์ทาง TikTok
ต้องบอกว่ามีน้อยแบรนด์มากโดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่ที่จะมาทำการ Live ขายของด้วยตัวเองบน TikTok ดังนั้นการที่แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในจีนอย่าง Glee มาทำการ Live ขายของเลยเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือเมื่อผู้ที่ทำการ Live ไม่ใช่ดาราดังหรือใครที่ไหน แต่เป็นท่านประธานของบริษัทอย่าง ตง หมิงจู (Dong Mingzhu) ที่ลงมา Live เรียกยอดขายให้ธุรกิจด้วยตัวเองครับ
เมื่อการ Live-commerce ครั้งแรกของ Glee สามารถทำเงินไปได้ 232,000 หยวน ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่ใช้ได้เลยทีเดียว และโดยเฉลี่ยแล้วคนที่ซื้อมักใช้เงินกันคนละประมาณ 900 หยวน และสินค้าที่เคย Live ขายในราคาที่แพงที่สุดคือที่กรองเครื่องปรับอากาศ 3 ชิ้นที่มีราคาสูงถึง 12,000 หยวนครับ
และที่การ Live ของ Glee สามารถทำเงินได้ดีในครั้งนั้นก็เพราะการที่ท่านประธานมาเป็นคนอธิบายถึงคุณสมบัติของสิ่งต่างๆ ได้เป็นอย่างดีด้วยตัวเอง ทำให้ผู้คนต่างเห็นถึงความจริงใจและน่าเชื่อถือที่คนระดับท่านประธานบริษัทใหญ่ลงมาอธิบายและตอบคำถามด้วยตัวเองครับ
แม้จะมีคนบอกว่าด้วยชื่อเสียงของท่านประธานหญิงอันโด่งดังในประเทศจีนแต่กลับทำยอดขายได้เพียง 232,000 หยวน แต่สำหรับผมกลับมองอีกมุมว่านี่คือการริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ของแบรนด์ที่น่าสนใจ เพราะการที่คนระดับท่านประธานบริษัทจะมา Live แบบเป็นกันเองนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายเลยจริงๆ
แล้วทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นถึงมิติการ Live-commerce ที่เริ่มเข้ามาแทนที่ E-commerce มากขึ้นทุกวันในตลาดเอเชียเรา และ TikTok ก็กำลังก้าวเข้ามายังพื้นที่การ Live-commerce มากขึ้นทุกขณะ ในขณะที่แพลตฟอร์มต่างๆ ก็หาทางเข้ามาสู่การ Live-commerce ด้วยเช่นกัน
อีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับนักการตลาดคือการทำ Revenue sharing หรือมีการแบ่งค่าคอมมิชชั่นยอดขายให้กับ Influencer ควบคู่กันไป ซึ่งนั่นก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้ Influencer มีพลังในการ Live มากกว่าแค่ทำงานให้จบไปอีกชิ้นเท่านั้นครับ
เมื่อ TikTok ในวันนี้กำลังกลายเป็นสื่อโซเชียลมีเดียกระแสหลักจากวิกฤต COVID-19 และนั่นก็ทำให้นักการตลาดอย่างเราต้องเรียนรู้ TikTok ให้ไวจากต้นแบบประเทศแม่ที่จีนเป็นหลัก ถ้าถามว่านักการตลาดไทยจะทำ Marketing ด้วย TikTok อย่างไร คำตอบนี้ไม่มีใครตอบได้ดีเท่ากับที่คุณเอาทั้งหมดนี้ที่อ่านไปประยุกต์ใช้ในแนวทางของตัวเองจนประสบความสำเร็จครับ
ไม่แน่ว่าเรื่องราวความสำเร็จที่เป็น case study ของการทำ TikTok marketing ในครั้งหน้าที่ผมเขียน อาจเป็นเรื่องของคุณก็ได้ครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก