นักวิทยาศาสตร์พบว่า ในอุกกาบาตที่ตกลงสู่พื้นโลกหลายปีก่อน อาจมีร่องรอยของน้ำบนดาวอังคาร เมื่อ 4,450 ล้านปีก่อน กลายเป็นเบาะแสใหม่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร
เมื่อปี 2011 อุกกาบาตจากดาวอังคาร ชื่อ Northwest Africa 7034 (NWA 7034) หรืออุกกาบาตสีดำที่หลายคนเรียกว่า ‘แบล็กบิวตี้’ (Black Beauty) ได้ตกลงมาสู่พื้นโลกบริเวณทะเลทรายซาฮารา หลังจากที่ถูกดีดออกจากพื้นผิวดาวอังคาร เพราะมีวัตถุท้องฟ้าอีกชิ้นพุ่งชนดาวอังคาร เมื่อราว 5 ล้านถึง 10 ล้านปีก่อน
เมื่อไม่นานมานี้ (22 พฤศจิกายน 2024) การวิจัยครั้งใหม่ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ได้ศึกษาแร่เซอร์คอน (zircon grain) อายุราว 4,450 ล้านปี ที่นักวิทยาศาสตร์พบใน Black Beauty และพบว่าดาวอังคารเคยมีน้ำอยู่ เป็นระยะเวลา 100 ล้านปีหลังจากที่ดาวอังคารก่อตัวขึ้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าดาวอังคาร อาจสามารถรองรับสิ่งมีชีวิตได้ ในบางช่วงของประวัติศาสตร์
ทั้งนี้เราอาจคุ้นเคยกับแร่เซอร์คอนมากกว่าที่คิด โดยแร่ดังกล่าวอยู่ในรูปแบบ ‘เพทาย’ ที่พบได้ในหลายจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องประดับ กระเบื้องเซรามิก และอุปกรณ์ปลูกถ่ายทางการแพทย์ อีกทั้งยังเป็นแร่ธาตุที่มีความแข็งแรง
“การค้นพบครั้งนี้เปิดโอกาสใหม่ๆ ในการทำความเข้าใจระบบความร้อนใต้พิภพของดาวอังคาร ที่เกี่ยวข้องกับแมกมา รวมถึงความเป็นไปได้ในการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต บนดาวเคราะห์ดวงนี้ในอดีต” ดร.แอรอน คาโวซี (Aaron Cavosie) หนึ่งในผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยเคอร์ติน (Curtin University) ประเทศออสเตรเลีย กล่าว
นอกจากนี้คาโวซียังระบุว่า ทีมนักวิจัยได้ศึกษาธรณีเคมีของแร่ดังกล่าว เพื่อตรวจจับหลักฐานธาตุของน้ำร้อนบนดาวอังคาร จนพบรูปแบบเฉพาะตัว ของธาตุต่างๆ ที่ประกอบในแร่เซอร์คอน ได้แก่ เหล็ก (iron) อะลูมิเนียม (aluminum) อิตเทรียม (yttrium) และโซเดียม (sodium) โดยพบในปริมาณที่ผิดปกติ ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงของเหลวในแร่ดังกล่าวได้
เขากล่าวว่า “ธาตุเหล่านี้ถูกประกอบเข้ากับแร่เซอร์คอน ในช่วงก่อตัวเมื่อ 4,450 ล้านปีก่อน ซึ่งบ่งชี้ว่ามีน้ำอยู่ในช่วงที่เกิดแมกมา บนดาวอังคารในยุคแรก”
“การศึกษาใหม่นี้ ทำให้เราเข้าใจดาวอังคารในยุคแรกๆ ได้ดีขึ้นอีกขั้น” คาโวซีกล่าว โดยการค้นพบครั้งนี้ อาจเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้มีองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับดาวอังคารและอวกาศได้ในอนาคต
อ้างอิงจาก