อยากดึงดูดคน Gen Z เข้าทำงานต้องทำอะไรบ้าง?
หลายบริษัทในญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของ ‘อายุ’ อย่างรวดเร็วในที่ทำงาน รวมถึงจำนวนพนักงานรุ่นใหม่ๆ ลดน้อยลง ตามลักษณะของสังคมสูงวัยแบบเข้มข้นมากๆ
นี่จึงเป็นเหตุผลให้หลายบริษัท พยายามหาทางดึงดูดชาว Gen Z กันด้วยหลากหลายวิธีการ โดยมีรายงานว่า ณ เวลานี้ หลายๆ บริษัทในญี่ปุ่นได้เสนอค่าตอบแทนที่มากกว่าเงินเดือน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องฟิตเนส, ซาวน่า, มื้ออาหารเย็นในทุกๆ วันและทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ รวมถึง การช่วยอุดหนุนค่าที่อยู่อาศัยด้วยเหมือนกัน
การสนับสนุนค่าที่อยู่อาศัย กำลังเป็นสิ่งที่หลายบริษัทเริ่มทำมากขึ้น เนื่องจากวิกฤตค่าครองชีพในญี่ปุ่นเองก็ทำให้พนักงานหลายๆ คนเผชิญกับความยากลำบาก ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 41 ปี ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2022
นอกจากนี้ การช่วยใช้หนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีดึงดูดใจที่ได้รับความนิยมจากนายจ้างเช่นกัน โดยบริษัทที่มอบสวัสดิการช่วยจ่ายเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาสำหรับนักเรียนจบใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าระหว่างช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2023 ถึง 2024
ตามการศึกษาขององค์กรบริการนักศึกษาแห่งประเทศญี่ปุ่น บริษัทต่างๆ เช่น Tokyo Energy & Systems มอบเงินช่วยเหลือแก่พนักงานสูงสุด 20,000 เยน (ราวๆ 4,000 กว่าบาท) ต่อเดือนเพื่อชำระเงินกู้เพื่อการศึกษา ซึ่งรวมแล้วไม่เกิน 3.6 ล้านเยน (ประมาณ 790,000 บาท)
ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นรายงานว่า จำนวนผู้สูงอายุในญี่ปุ่นพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 36.25 ล้านคน โดยที่ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของชาวญี่ปุ่นทั้งหมด
นอกจากปัญหาผู้สูงอายุล้นแล้ว ยังมีปัญหาอัตราการเกิดของญี่ปุ่นเองที่ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทต่างๆ ในประเทศเกิดปัญหาในการจัดหาพนักงาน โดยข้อมูลจากกระทรวงกิจการภายในของญี่ปุ่นปี 2024 ระบุว่า ประชากรวัยทำงานในญี่ปุ่นที่อายุระหว่าง 20 – 24 ปี ลดลงถึง 36% ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
เมื่อแรงงานลดลง การแข่งขันของเหล่าบริษัทจึงเริ่มสูงขึ้น – สำหรับเด็กที่กำลังเรียนอยู่ หรือเด็กจบใหม่ที่มีความสามารถ จะได้รับการเสนอช่วยชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และค่าที่อยู่อาศัยจากนายจ้างบริษัทต่างๆ
ตามรายงานปี 2024 ของสถาบันวิจัย Shushoku Mirai Kenkyusho ระบุว่า นักเรียนญี่ปุ่นมากกว่า 40% ที่จะสำเร็จการศึกษาในเดือนมีนาคมปีนี้ (2025) มีงานรองรับแล้วอย่างน้อย 1 งาน ซึ่งถือเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงที่สุดของเหล่าบัณฑิตจบใหม่ที่เก่งๆ ของญี่ปุ่นเคยบันทึกมาตั้งแต่ปี 2016
ด้วยปัญหาตลาดแรงงานที่ตึงตัว ประชากรสูงอายุและอัตราเกิดต่ำ ทำให้แรงงานหนุ่มสาวที่มีทักษะไม่เพียงพอ บริษัทต่างๆ จึงหันมาดึงตัวพนักงานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องดีสำหรับเด็กจบใหม่ที่จะมีงานรองรับทันทีหลังเรียนจบ
และในเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป พนักงานรัฐที่ทำงานในโตเกียวกว่า 160,000 คนจะได้รับอนุญาตให้ทำงานแค่ 4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้มีเวลากับครอบครัวและลูกๆ มากขึ้น ซึ่งสวัสดิการนี้ก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายในเยอรมนี และสหราชอาณาจักรด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก