‘มะเร็ง’ คือโรคตัวร้ายที่ใครๆ ก็ไม่อยากเจอ เพราะนอกจากจะคาดเดายากแล้วยังรักษาให้หายได้ยาก แต่ตอนนี้ การจัดการกับโรคมะเร็งอาจมีความหวังมากขึ้น เมื่อแพทย์เริ่มทำการศึกษาวิจัย ‘สุดยอดผู้รอดชีวิตจากมะเร็ง’ แล้ว
แคเธอรีน เว็บสเตอร์ (Katherine Webster) หญิงชาวอังกฤษวัย 52 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเนื้องอกในสมองชนิดรุนแรง และได้รับแจ้งว่าเธอมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่กี่เดือน โดยผลการสแกนเผยให้เห็นว่าเนื้องอกในสมองของเธอมีขนาดประมาณ 8 ซม.
อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านมา 5 ปี ที่เธอผ่านมาทั้งการผ่าตัด การฉายรังสี และเคมีบำบัด ที่โรงพยาบาล Addenbrooke อาการของมะเร็งทั้งหมดก็หายไป
แพทย์เรียกเธอว่า เป็น ‘สุดยอดผู้รอดชีวิตจากมะเร็ง’
เว็บสเตอร์ระบุว่า เธอรู้สึก “ดีขึ้นอย่างน่าทึ่ง” แม้จะสูญเสียความทรงจำบางส่วน และยังต้องเข้ารับการกายภาพบำบัดเพื่อช่วยฟื้นฟูมือขวาอยู่
เธอเองก็ไม่แน่ใจว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้เธอยังมีชีวิตรอดมาอีกหลายปี ทั้งที่ได้รับการวินิจฉัยว่าจะอยู่ได้อีกไม่กี่เดือนเท่านั้น โดยเธอกล่าวว่า “เกือบห้าปีหลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ฉันพยายามใช้ชีวิตให้คุ้มค่าที่สุด ฉันใช้ชีวิตทุกวันราวกับว่าเป็นวันสุดท้าย”
หนึ่งในงานอดิเรกที่เธอหลงใหล คือการพายเรือ “การพายเรือเป็นความหลงใหลที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้นความคิดที่จะได้กลับมาที่แม่น้ำอีกครั้ง มันช่วยให้ฉันผ่านพ้นการฉายรังสีและเคมีบำบัดมาได้” เธอกล่าว
จากข้อมูลของ The Brain Tumour Charity เนื้องอกในสมองชนิดที่เว็บสเตอร์เผชิญ เป็นเนื้องอกที่เติบโตอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยผู้ป่วย 25% มีชีวิตรอดได้นานกว่า 1 ปี และมีเพียง 5% เท่านั้นที่มีชีวิตรอดได้นานกว่า 5 ปี
ดังนั้น เมื่อครบรอบ 5 ปีหลังเว็บสเตอร์ได้รับวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง เธอได้รับเชิญให้เข้าร่วมการศึกษาวิจัย Rosalind ซึ่งเป็นการทดลองระดับนานาชาติที่มุ่งทำความเข้าใจปัจจัยทางชีววิทยาเบื้องหลังของการรอดชีวิตจากโรคมะเร็งในระยะยาว
การศึกษาวิจัย Rosalind ในสหราชอาณาจักร ประสานงานโดย Cambridge University Hospitals NHS Foundation Trust และมีโรงพยาบาลในสหราชอาณาจักร 8 แห่งเข้าร่วมกับโรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อศึกษาผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มเล็กๆ ที่สามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ และมีชีวิตรอดได้หลายปีหลังจากการวินิจฉัยโดยเฉพาะ
ดร.ทังกัมมา อจิตกุมาร์ (Thankamma Ajithkumar) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งคลินิกที่ Addenbrooke’s Hospital ในเคมบริดจ์และหัวหน้าคณะผู้วิจัยส่วนสหราชอาณาจักรของการศึกษาวิจัยนี้ กล่าวว่า งานวิจัยนี้จะเน้นไปที่มะเร็งสามชนิดที่ร้ายแรงที่สุด ได้แก่ มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กในระยะลุกลาม มะเร็งตับอ่อนในระยะลุกลาม และมะเร็งในสมอง
เขากล่าวว่า “แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่สาเหตุที่ผู้ป่วยมะเร็งไม่รอดชีวิต การศึกษาวิจัยนี้มุ่งหวังที่จะทำความเข้าใจว่าอะไรทำให้พวกเขามีชีวิตอยู่ต่อไป เรามุ่งหวังที่จะค้นหาข้อมูลเชิงลึกที่อาจเป็นประโยชน์เพื่อปรับปรุงผลลัพธ์สำหรับผู้ป่วยทุกราย โดยการศึกษาชีววิทยาของกลุ่มผู้รอดชีวิตที่ยอดเยี่ยมกลุ่มนี้”
นักวิจัยตั้งใจจะเก็บตัวอย่างเนื้องอกจากผู้ป่วยที่ยินยอมมากกว่า 1,000 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่ม 3% แรกที่มีอัตราการรอดชีวิตจากโรคมะเร็ง
ดร.อจิตกุมาร์ กล่าวเสริมว่า “เราไม่อยากแค่ได้ยินเรื่องราวแบบของแคเธอรีนเท่านั้น แต่เราต้องการเรียนรู้จากเรื่องราวเหล่านั้น”
อ้างอิงจาก
#มะเร็ง #TheMATTER