ในชีวิตประจำวันของเรา ล้วนมีโอกาสสัมผัสไมโครพลาสติก – หรือก็คือชิ้นส่วนพลาสติกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร โดยเราอาจสัมผัสผ่านมลภาวะที่กระจายทั่วในอากาศ ในน้ำ หรือแม้แต่ในอาหารที่เรากิน แต่เคยสงสัยกันไหมว่า ร่างกายของเรามีไมโครพลาสติกสะสมมากแค่ไหนแล้ว?
แน่นอนว่าที่ผ่านมามีการศึกษามากมายที่พบว่า ร่างกายมนุษย์มีไมโครพลาสติกสะสมอยู่ แต่หนึ่งในงานวิจัยล่าสุด (ที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่าง peer review) จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health หรือ NIH) พบการสะสมไมโครพลาสติกใน ‘สมอง’ ที่น่ากังวลเป็นพิเศษ
งานวิจัยนี้ เก็บข้อมูลจาก ตับ ไต และ สมองของศพที่ถูกชันสูตร แล้วพบไมโครพลาสติกในอวัยวะเหมือนกันหมด แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ นักวิจัยพบว่า ในตัวอย่างสมองถึง 91 ตัวอย่าง มีไมโครพลาสติกมากกว่าอวัยวะอื่นๆ ราว 10 ถึง 20 เท่า
นอกจากนี้ นักวิจัยพบไมโครพลาสติกเฉลี่ยประมาณ 0.5% ของน้ำหนักสมอง ในตัวอย่างสมอง 24 ตัวอย่าง ที่เก็บเมื่อต้นปี 2024 อีกทั้งงานวิจัยนี้ระบุว่า สมองเป็น “หนึ่งในเนื้อเยื่อที่ปนเปื้อนมลพิษจากพลาสติกมากที่สุด เท่าที่มีการเก็บตัวอย่าง”
“มีพลาสติกอยู่ในสมองของเรามากกว่าที่เคยจินตนาการ” แมทธิว แคมเพน (Matthew Campen) นักพิษวิทยา และอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม มหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก (University of New Mexico) หรือผู้เขียนหลักของงานวิจัยกล่าว
พลาสติกในสมองอันตรายอย่างไร?
งานวิจัยนี้ยังเปรียบเทียบตัวอย่างสมอง 12 ตัวอย่าง จากผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคสมองเสื่อม รวมถึงโรคอัลไซเมอร์ กับตัวอย่างสมองที่มีสุขภาพดี และพบว่าสมองของผู้ป่วยโรคเหล่านั้น มีไมโครพลาสติกมากกว่าถึง 10 เท่าเมื่อพิจารณาตามน้ำหนัก
แม้ขณะนี้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาและกำลังหาทางแก้ไข แต่ไมโครพลาสติกอาจเป็นโจทย์ที่ ‘ไม่ง่าย’ สำหรับมนุษย์ เพราะเราทุกคนล้วนต้องสัมผัสกับอนุภาคพลาสติก ที่เล็กมากเสียจนหลีกเลี่ยงได้ยาก แล้วทางออกของปัญหานี้คืออะไร? การลดการผลิตและบริโภคพลาสติกจะเป็นไปได้หรือไม่ ในโลกปัจจุบัน?
อ้างอิงจาก