แม้ว่าสุภาษิตไทยจะบอกว่า ‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’ แต่ปัจจุบันการ ‘ตีเด็ก’ กำลังจะกลายเป็นความผิดตามกฎหมายฉบับใหม่ที่เพิ่งจะมีผลบังคับใช้
เมื่อวานนี้ (24 มีนาคม 2568) ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2568 หรือ ‘กฎหมายห้ามตีเด็ก’ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (25 มีนาคม 2568) เป็นต้นไป
สาระสำคัญของกฎหมายนี้ อยู่ที่มาตรา 1567 (2) ที่กำหนดให้ ผู้ใช้อำนาจปกครอง มีสิทธิทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน หรือปรับพฤติกรรม โดยไม่ต้องทารุณกรรมหรือทำร้ายด้วยความรุนแรงต่อร่างกายและจิตใจ หรือกระทำโดยมิชอบ
ถ้าว่ากันง่ายๆ คือ ผู้ปกครองมีสิทธิที่จะสั่งสอนลูกก็จริง แต่จะไม่สามารถสั่งสอนด้วยความรุนแรงทั้งทางกายและทางใจ หรือทารุณกรรม รวมถึงการกระทำที่มิชอบ เช่น การด้อยค่าเด็ก หรือลดทอนความเป็นมนุษย์ของเด็ก
ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดไว้กว้างๆ แบบไม่ได้ระบุเจาะจงว่า พ่อแม่มีสิทธิที่จะลงโทษบุตรได้ตามสมควร ซึ่งยังไม่มีการกำหนดถึงวิธี และไม่รับรองว่าวิธีเหล่านั้นจะเป็นการทารุณกรรมหรือไม่
จนกระทั่งวันที่ 4 ตุลาคม 2566 สส.จากพรรคก้าวไกล (ก่อนถูกตัดสินยุบพรรค) ได้เสนอร่างฯ แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อแก้ไขมาตราดังกล่าว จนกระทั่งผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาจนได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายในวันนี้
อ้างอิงจาก