ก่อนนอนต้องหาอะไรฟังเพื่อให้ตัวเองหลับง่ายขึ้น เหมือนกันไหม? แม้ว่าใครๆ ก็แนะนำให้งดเล่นมือถือหรือดูทีวีก่อนนอน แต่ไม่นานมานี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ ชี้ว่าการเข้านอนไปพร้อมๆ กับการฟังเสียงเพลงหรือพอดแคสต์ อาจไม่ได้ทำลายการนอนหลับของเราเสมอไป
“มันขึ้นอยู่กับว่าอะไรเหมาะกับคุณ” ดร.เรเชล ซาลาส (Rachel Salas) ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ และศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยา จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ กล่าวกับ CNN ว่าที่ผ่านมา คนเริ่มใช้เสียงเพลง พอดแคสต์ หรือรายการต่างๆ กล่อมตัวเองเข้านอนกันมากขึ้น เพื่อให้ผ่อนคลาย และหลับง่ายขึ้น
ดร.ซาลาสอธิบายว่า หลายคนหลับง่ายขึ้นเมื่อฟังรายการโปรด เพราะเสียงที่เราคุ้นเคยหรือคาดเดาได้นั้น สามารถช่วยบอกร่างกายเราว่าถึงเวลาพักผ่อนแล้ว โดยกล่าวว่า “ถ้าคุณพบว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรก่อนนอนของคุณ และมันทำให้รู้สึกสบายใจและผ่อนคลาย … ก็เป็นเรื่องดี”
อย่างไรก็ตาม ดร.ซาลาสเตือนว่า ต้องฟังให้ถูกวิธี เพื่อให้การนอนของเรามีประสิทธิภาพสูงสุด และหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเธอชี้ว่า หากพอดแคสต์หรือเพลงที่เราเปิดขณะนอนหลับ มีระดับเสียงหรือความถี่ที่ไม่คาดคิดหรือไม่คุ้นเคย ก็อาจทำให้สมองของเราตื่นได้
เธอชี้ว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หากเปิดเสียงพอดแคสต์หรือเพลงไว้ทั้งคืน บางทีสมองของเราอาจตื่นโดยไม่รู้ตัว เพราะเสียงเหล่านั้นไม่ได้ทำให้เราตื่นเต็มที่เสมอไป แต่สามารถทำให้เราตื่นขึ้นเล็กน้อยหลายครั้งโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งนั่นจะรบกวนการนอนหลับอย่างมาก
เช่นเดียวกับ ดร.ชาลินี ปารูธี (Shalini Paruthi) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ จากโรงพยาบาลทหารผ่านศึกจอห์น เจ. โคชแรน ที่ระบุว่า เคล็ดลับในการฟังพอดแคสต์ก่อนนอน คือต้องแน่ใจว่าเสียงที่เลือกฟังนี้ จะช่วยให้เราผ่อนคลาย ไม่ใช่ปลุกให้เราตื่น
“หากการฟังบางสิ่งบางอย่าง ช่วยให้คนเรามีส่วนร่วมหรือตื่นตัวมากขึ้น จนกินเวลานอนของเรา สิ่งนี้อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้” ดร.ปารูธีแนะนำว่า ผู้ใหญ่ควรนอนอย่างน้อย 7 ชั่วโมงเป็นประจำ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
ด้าน ดร.ลินด์ซีย์ บราวนิ่ง (Lindsay Browning) นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ จากประเทศอังกฤษ ก็แนะนำให้เลือกฟังสิ่งที่จะช่วยให้เราเข้าสู่โหมดการนอนหลับ โดยกล่าวว่า “เลือกสิ่งที่ไม่น่าสนใจเกินไป เพื่อให้สมองของคุณจะไม่ตื่นตัว จนขัดขวางการนอนหลับเพื่อให้ความสนใจกับมัน”
ทั้งนี้งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Sleep Medicine เมื่อปี 2005 ก็พบว่าเสียงสีขาว (white noise) ช่วยให้ผู้คนหลับได้ เมื่อต้องนอนในบรรยากาศห้องที่มีเสียงดัง โดยได้ทดลองเปิดเสียงที่บันทึกไว้จากห้อง ICU ที่มีเสียงดัง ในขณะที่คนเข้านอน สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า เสียงพื้นฐานที่เบาและธรรมดา จะทำให้ผู้ที่นอนหลับสะดุ้งตื่นได้ยากขึ้น เมื่อต้องนอนในที่ซึ่งมีเสียงดัง หรืออาจได้ยินเสียงผิดปกติอย่างกะทันหัน (เช่น เสียงรถบีบแตรข้างนอก หรือเสียงโทรศัพท์ดัง)
นอกจากนี้ ดร.บราวนิ่ง ชี้ว่าแม้จะหลับได้แล้ว แต่เราก็ไม่ควรเปิดเสียงเหล่านั้นไว้ทั้งคืน ดังนั้น “การตั้งเวลาอัตโนมัติ เพื่อปิดเสียงทันทีหลังจากนอนหลับ เป็นสิ่งสำคัญ” โดยแนะนำให้ตั้งเวลาปิดเสียงเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เพื่อไม่ให้รบกวนการนอนหลับ
เธอชี้ว่า คนมักเลือกฟังอะไรสักอย่างก่อนนอน เพื่อสงบสติอารมณ์ตัวเอง หลังจากผ่านการใช้ชีวิตมาทั้งวัน แต่บางทีการฝึกจัดการกับความคิดที่วุ่นวาย และความกังวลในระหว่างวัน อาจเป็นวิธีที่ยั่งยืนมากกว่า พร้อมกล่าวว่า
“เป็นความคิดที่ดีกว่ามาก หากจะพยายามเรียนรู้วิธีทำให้จิตใจที่ยุ่งวุ่นวายสงบลงในตอนกลางคืน โดยที่คุณไม่ต้องกลบความคิดที่ไม่ต้องการเหล่านั้น ด้วยเสียงจากภายนอก”
อ้างอิงจาก