ไปเรียนก็ต้องตื่นเช้า บ้านเราเองคลาสเช้าที่สุดมักจะเริ่มแถวๆ 8 โมงเช้า นั่นคือมหาวิทยาลัย ถ้าเป็นโรงเรียนก็จะยิ่งเช้าไปกว่านั้นคือต้องไปถึงโรงเรียนก่อนเข้าแถว 8 โมง ประกอบกับการเดินทางช่วงเช้าที่ตอนนี้ หลังจาก COVID-19 เริ่มซาและการเรียนเริ่มกลับมา ภาวะรถติดหฤโหดช่วงเช้าและการวางแผนไปทำงาน ไปส่งลูกที่ต้องแพลนอย่างถี่ถ้วนก็กลับมาเป็นชาเลนจ์ประจำวันอีกครั้ง สำหรับพ่อแม่และเด็กไทย การตื่นตีห้าครึ่งเพื่อไปถึงโรงเรียน 7 โมงเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ควรจะธรรมดา
สำหรับความรู้สึกที่ว่าเป็นเด็กก็ต้องนอนเร็วตื่นเช้า—เป็นเช่นไรก็ต้องเป็นเช่นนั้นไม่มีวันเปลี่ยน—ก็อาจจะไม่ใช่กับวงการการศึกษาทั่วโลกที่มีการตั้งข้อสงสัยและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ที่สหรัฐฯ เองก็คล้ายๆ บ้านเรา คือมีการเริ่มเรียนในช่วงเวลาที่ค่อนข้างเช้า แม้เวลาเช้าที่ว่าจะไม่มีการเข้าแถวเหมือนบ้านเรา แต่การเรียนการสอนจะเริ่มต้นในตอน 7 โมงตรง ตรงนี้เองที่นักวิชาการโดยเฉพาะแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนเสนอว่ามันเช้าเกินไป คลาสเรียนโดยทั่วไปน่าจะเริ่มสายกว่านั้นหน่อยและเสนอว่าควรจะเริ่มหลัง 8 โมงครึ่ง
ความเคลื่อนไหวเรื่องการเริ่มเรียนให้สายลงหน่อย (start school later movement) เป็นกระแสที่เริ่มตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 มีการเริ่มศึกษาและทดลองเริ่มเรียนให้ช้าลง ในการศึกษานั้นก็มีการเก็บข้อมูลและรายงานผลในหลากหลายมิติ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องประโยชน์ของการได้นอนเยอะขึ้น ซึ่งโดยรวมแล้วก็ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพการเรียนของเด็กๆ รวมถึงพบความเกี่ยวข้องกับเรื่องอุบัติเหตุจากการขับขี่จากพฤติกรรมวัยรุ่น—ที่มีทิศทางดีขึ้นจากการที่ได้นอนมากขึ้น
กระแสเริ่มเรียนให้สาย มรดกจากยุค 90s
รายงานจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐฯ (CDC) รายงานว่า 3 ใน 4 ของโรงเรียนระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายของสหรัฐเริ่มเรียนก่อน 8:30 น. การเริ่มเรียนที่เช้าเกินไปนี้กลายเป็นประเด็นศึกษาและข้อกังวลของวงวิชาการและวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเฉพาะงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับที่เพียงพอและแนวคิดล่าสุดเรื่องวงจรของชีวิตประจำวัน (circadian rhythm) รวมถึงวงจรการนอนตามธรรมชาติ (sleep cycle)
อันที่จริงกระแสความสนใจเรื่องนักเรียนตื่นเช้าไปไหมถือเป็นกระแสที่เริ่มค่อนข้างเร็ว คือเริ่มมีการศึกษาและข้อเสนอตั้งแต่ต้นศตวรรษ 1990 ในตอนนี้มีงานสำรวจและศึกษาจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา (University of Minnesota) ศึกษานักเรียนมัธยมปลายจากสองเขตเมือง โดยโรงเรียนจากสองเขตนั้นมีการปรับเวลาเปิดเรียนให้สายขึ้นจาก 7:20 น. เป็น 8:30 น. หรือ 8:40 น. แล้วแต่เขต
งานศึกษาในครั้งนั้นรายงานประโยชน์จากการเลื่อนเวลาเปิดในหลายด้าน โดยส่วนใหญ่สัมพันธ์กับประสิทธิภาพการศึกษาที่ดีขึ้น เช่น มีอัตราการเข้าเรียนที่สูงขึ้น หลับในห้องเรียนน้อยลง นักเรียนรายงานภาวะซึมเศร้าลดลง ห้องปกครองเจอกับประเด็นเรื่องพฤติกรรมน้อยลงและมีพฤติกรรมเชิงอารมณ์ที่บ้านดีขึ้น
นอนดึกตื่นเช้ากับปัญหาระดับชีววิทยา ถึงปัญหาสาธารณะ
ถ้าเป็นบ้านเราเราก็อาจจะรู้สึกว่าต้องตื่นเช้าก็นอนไวๆ สิ จะได้ตื่นไปทำอะไรได้ทัน แต่สำหรับหลายเมืองหรือประเทศอื่นๆ นั้น คุณภาพชีวิตและคุณภาพการศึกษาสัมพันธ์กับองค์ความรู้และแนวนโยบาย เบื้องต้นที่สุดผู้เชี่ยวชาญระบุตัวเลขการนอนหลับที่เพียงพอของเด็กเอาไว้ เช่น National Sleep Foundation ของสหรัฐบอกว่าเด็กอายุ 6-13 ปี ต้องการการนอนหลับที่ 9-11 ชั่วโมง วัยรุ่นอายุ 14-17 ปี ต้องการการนอนหลับ 8-10 ชั่วโมง และมีงานศึกษารายงานว่าวัยรุ่นอเมริกันนอนไม่เพียงพอ รายงานตัวเลขสูงเกินครึ่งคือมากกว่า 60% ของเด็กมัธยมต้นและกว่า 70% ของมัธยมปลายรายงานว่าตัวเองนอนไม่ถึงเกณฑ์ที่ควรจะนอน
ตรงนี้เองที่ภาคส่วนที่ออกมากังวลและรายงานตัวเลขต่างๆ ที่กระทบนโยบายและวงการการศึกษาคือแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ นอกจากการบอกว่าให้นอนไวๆ เพื่อตื่นเช้าๆ น่ากังวลแล้ว ในการศึกษาเกี่ยวกับเวลาทางชีวภาพ (circadian rhythm) หรือวงจรการนอนหลับตามธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมการนอนนั้นสัมพันธ์กับเงื่อนไขทางชีววิทยา
ตัวอย่างเช่น งานศึกษาในปี ค.ศ.1993 จากมหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) พบว่า วัยรุ่นมีวงจรของการนอนหลับและตื่นที่สัมพันธ์กับเมลาโทนินที่สายกว่าในเด็กและคนกลุ่มอายุแก่กว่า (phase shift) ซึ่งการเปลี่ยนเวลาการตื่นและหลับในวัยรุ่น (adolescent) ที่สายกว่าช่วงอายุอื่นๆ พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ด้วย ในงานศึกษาพบว่าในช่วงวัยรุ่นนั้นการนอนหลับก่อน 5 ทุ่มและตื่นก่อน 8 โมงเป็นเรื่องที่เป็นไปแทบไม่ได้ ด้วยเงื่อนไขของเวลาเรียนทำให้วัยรุ่นต้องตื่นก่อนเวลาชีวภาพตามช่วงวัย ทำให้การตื่นเช้ากว่าที่ควรส่งผลให้เกิดภาวะนอนไม่พอ (sleep deprived) โดยนอกจากงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยบราวน์ ในภายหลังงานศึกษาจากนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับมักจะแนะนำว่าวัยรุ่นควรจะนอนให้ถึงอย่างน้อยราว 8 โมงเช้าเพื่อให้นอนหลับได้ 9 ชั่วโมงตามคำแนะนำทางสุขภาพโดยทั่วไป
โดยนอกจากเงื่อนไขทางชีววิทยาที่บอกว่าวัยรุ่นนั้นนอนดึกตื่นสายกว่าช่วงวัยอื่นๆ แล้ว ก็ยังมีงานศึกษาที่พบประโยชน์เชิงสาธารณะของการเลื่อนเวลาเริ่มเรียนเรียนให้สายลงเล็กน้อย เช่น งานศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ในปี ค.ศ.2020 จากวารสารสมาคมเวชศาสตร์การนอนหลับอเมริกัน (American Academy of Sleep Medicine) รายงานความเกี่ยวข้องกันของการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยใช้ข้อมูลของเมืองแฟร์ฟอกซ์เคาน์ตี รัฐเวอร์จิเนีย ที่มีการเลื่อนเวลาเรียนเป็น 8:30 น. และพบว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุของผู้ขับขี่อายุ 16-18 ปี ลดลงจาก 31.63% เหลือ 29.59% โดยนักวิจัยยังได้เปรียบเทียบอัตราการเกิดอุบัติเหตุในกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวกับเขตพื้นที่อื่นที่ไม่มีนโยบายเริ่มเรียนสาย งานศึกษาพบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุจากความวอกแวก (distraction-related) มีอัตราที่ลดลง ทั้งนี้ นักวิจัยสรุปว่า การที่วัยรุ่นได้นอนอย่างเพียงพอส่งผลดีต่อการตัดสินใจที่สัมพันธ์กับการขับขี่ปลอดภัย มีความหุนหันพลันแล่นน้อยลง ตัดสินใจบางอย่างที่ดีขึ้น เช่น การคาดเข็มขัด การสวมหมวกนิรภัย หรือการนึกถึงการขับรถทางไกลโดยไม่พร้อม
ข้อเสียและเงื่อนไขในการหาตรงกลางของการเริ่มเรียนสาย
แม้ว่าการเริ่มเรียนให้สายขึ้นดูจะมีข้อดีมากมาย ซึ่งนับตั้งแต่งานศึกษาสำคัญจากทศวรรษ 1990 ทางภาคการศึกษา ชุมชนและรัฐที่เกี่ยวข้องก็มีความตื่นตัว มีโรงเรียนกว่า 250 แห่งใน 45 รัฐทำการเลื่อนเวลาเรียนไปที่ 8:30 น. แต่ในภาพรวมการเลื่อนเวลาเรียนก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้โดยง่ายและมีแต่ข้อดี ด้วยว่าการเลื่อนเวลาเรียนสัมพันธ์กับการบริหารจัดการของรัฐและโรงเรียน เกี่ยวข้องกับงบประมาณและความกังวลที่กระทบกับชุมชนและผู้คนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
ที่สหรัฐอเมริกาเอง การไปโรงเรียนถือว่าต่างกับเราหลายส่วน ส่วนหนึ่งการเดินทางไปโรงเรียนมีเงื่อนไขเรื่องการจัดส่งนักเรียน และการเลื่อนเวลาย่อมกระทบกับการใช้งานและตารางการใช้รถบัสรวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ในกลุ่มชุมชนและนักเรียนที่มีรายได้น้อย รวมถึงกลุ่มผู้ปกครองทั่วไปก็เห็นว่าการเลื่อนเวลาเรียนจะกระทบกับตารางโดยรวม โดยเฉพาะตารางหลังเลิกเรียนของนักเรียน ทำให้กิจกรรมพิเศษหลังเลิกเรียนสายเกินไป กระทบกับกิจกรรมทั้งกีฬา กิจกรรมนอกห้องเรียน การทำงานพิเศษ ตารางฝึกฝนที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร เวลาทำการบ้าน การจัดการที่เกี่ยวกับการดูแลในช่วงกลางวันเช่นการดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุ
นอกจากนี้บางผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นว่าการเลื่อนเวลาอาจกระทบกับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งแน่นอนว่าบางส่วน เช่น การเลิกเรียนช้าลงกระทบกับการจัดการชีวิตอื่นๆ ตัวอย่างคือกระทบตารางการทำงานของผู้ปกครอง มีผลกับการปรับตารางในกลุ่มผู้ปกครองที่ทำงานในกลุ่มรายได้น้อย เช่น ทำงานในร้านอาหาร กลุ่มงานก่อสร้าง การเข้างานสายลงน่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ การไปส่งลูกเข้าเรียนตอนเช้าอันเป็นกิจวัตรเดิมอาจได้รับผลกระทบอย่างสำคัญ
อันที่จริงถ้าเราดูกระแสและการบริหารจัดการ รวมถึงข้อเสนอจากนักวิชาการและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กระแสส่วนใหญ่มักจะมุ่งไปที่การให้ปรับเวลาเรียนให้สายขึ้นเป็นมาตรฐานใหม่ บางที่เช่นแคลิฟอร์เนียออกกฏหมายให้โรงเรียนมัธยมต้นห้ามเริ่มเรียนก่อน 8 โมงและมัธยมปลายห้ามเริ่มก่อน 8 โมงครึ่ง สำหรับการปรับตารางหรือบริหารงบ เช่น การรับส่ง จัดตารางรถหรือภาระผู้ปกครองในการไปส่งลูกเข้าเรียนฟังดูเป็นสิ่งที่น่าจะจัดการได้ถ้าเทียบกับเงื่อนไขทางสุขภาพและความจำเป็นของการนอนหลับที่มีคุณภาพ
ย้อนกลับมาที่บ้านเรา หลังจากเรียนออนไลน์กันมาพักใหญ่ กิจกรรมหนึ่งที่โรงเรียนบ้านเราค่อนข้างให้ความสำคัญคือเรื่องวินัย ดังนั้นการจับแถวสาย การลงโทษต่างๆ ดูจะเป็นกิจกรรมสำคัญที่นักเรียนต้องผ่านด่านไปให้ได้ ถ้าเรามองเรื่องเงื่อนไข งานศึกษาและความเข้าใจซึ่งส่วนใหญ่สัมพันธ์กับเงื่อนไขทางชีววิทยา สุขภาพ และประสิทธิภาพการเรียนรู้ การทบทวนแนวคิดเรื่องการตื่นเช้าตื่นสาย ตื่นเช้าทันบิณฑบาตเป็นเรื่องน่าชื่นชม ก็อาจจะเป็นอีกเรื่องที่น่าจะให้ความสำคัญน้อยลงได้บ้าง และหันมาสนใจคุณภาพของการเรียนรู้มากกว่าการตื่นให้ทันเวลาแล้วมางีบหลับในห้องหรือเรียนไม่รู้เรื่อง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan