เคยเป็นเหมือนกันไหม เผลอหลับบนโซฟาอย่างง่ายดาย แต่กลับนอนไม่หลับบนเตียงตอนเข้านอน? หากเคย วันนี้ขอชวนทำความเข้าใจเหตุผลทางจิตวิทยาของการนอนหลับ ที่อธิบายว่าทำไมเราจึงเป็นแบบนั้น
1 ภารกิจเตรียมตัวก่อนเข้านอน
นักจิตวิทยาคลินิก ลิซ่า สเตราส์ (Lisa Strauss) ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ ระบุว่าเหตุผลที่เรามักจะเผลอหลับบนโซฟาอย่างง่ายดายมีหลายประการ หนึ่งในอาจเริ่มตั้งก่อนเข้านอน ซึ่งหากพิจารณากิจวัตรก่อนนอนของเรา ทั้งการแปรงฟัน ล้างหน้า อาบน้ำ หรือทาสกินแคร์ อาจพบว่าระหว่างนั้น เรารู้สึกตื่นตัวมากขึ้นจากขั้นตอนมากมายในการเตรียมตัวเข้านอน ซึ่งเราอาจมองว่าเป็น ‘ความรับผิดชอบ’ ที่ต้องจัดการ จนบางทีความผ่อนคลายก่อนนอนอาจหายไป ต่างจากการเผลอหลับบนโซฟา ที่เราไม่ต้องเตรียมตัวมากมายอะไร ก็หลับได้ง่ายๆ ในทันที
2 การกระตุ้นตามเงื่อนไข (Conditioned arousal)
กรณีนี้หลายคนที่มีปัญหาด้านการนอนหลับคงเข้าใจเป็นอย่างดี เพราะถ้าเรานอนไม่หลับติดต่อกันหลายคืน แน่นอนว่าระหว่างที่เรามัวแต่พลิกตัวไปมา เพื่อพยายามจะหลับให้ได้บนเตียงนั้น เราอาจรู้สึกวิตกกังวลและหงุดหงิด โดยหากเวลาผ่านไป แล้วเกิดเหตุการณ์นี้บ่อยๆ เข้า ร่างกายเราอาจถูก ‘วางเงื่อนไข’ ให้เกิดความรู้สึกดังกล่าวทุกครั้งที่เรานอนบนเตียง จนนอนไม่หลับที่เตียงนอน ซึ่งในทางกลับกันเราอาจไม่ได้ประสบเหตุการณ์เช่นนี้ เมื่อเรานอนโซฟา
3 ความกดดันที่จะนอนหลับ
สเตราส์กล่าวว่า หากเรานอนไม่หลับบนเตียง เราอาจกดดันตัวเองให้เข้านอนมากขึ้น ซึ่งอาจต่อเนื่องจากความวิตกกังวลทางการแสดง (performance anxiety) ที่เราอาจเชื่อมโยงการนอนหลับอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ กับเป้าหมายหรือความสำคัญบางอย่างในชีวิต ทำให้เรากดดันตัวเองให้หลับมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ไม่เกิดกับการนอนบนโซฟา ที่เราไม่คาดหวังอะไรจากการงีบสั้นๆ
แน่นอนว่าหลายคนอยากจะนอนหลับบนเตียงอย่างเพียงพอ เพื่อให้เราไม่ง่วงระหว่างวัน และสามารถโฟกัสกับกิจกรรมในวันต่อไปได้มากขึ้น แล้วมีวิธีอะไรบ้างที่ช่วยให้เรานอนอย่างมีคุณภาพมากขึ้น?
“วิธีที่ดีที่สุดที่ทำให้การนอนหลับบนเตียงของคุณง่ายขึ้น ก็คือหลีกเลี่ยงการนอนหลับบนโซฟาตั้งแต่แรก” เมเดอลีน สปราจเซอร์ (Madeline Sprajcer) อาจารย์วิชาจิตวิทยาที่ CQUniversity Australia ระบุ พร้อมกับเสริมว่าเราอาจสร้างบรรยากาศในห้องนอนให้มืด เงียบ และสบาย ทั้งนี้อาจเข้านอนในเวลาเดียวกัน พร้อมกับมีกิจวัตรก่อนนอนแบบเดียวกันทุกคืน
อ้างอิงจาก