วิกฤตสารพิษเปื้อนในแม่น้ำกกยังคงรุนแรง โดยล่าสุดมีรายงานว่า ปลา-ช้างติดเชื้อ การท่องเที่ยวย่ำแย่ รวมถึงอาจกระทบต่อสุขภาพคนในชุมชน จ.เชียงใหม่ และเชียงราย ด้านองค์กรแม่น้ำนานาชาติ และสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไข
ไม่กี่วันที่ผ่านมา สำนักข่าวชายขอบ เปิดเผยสถานการณ์สารพิษปนเปื้อนในแม่น้ำกก โดยรายงานว่า นักท่องเที่ยวหายไปจากปางช้างกะเหรี่ยงรวมมิตร ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย ราว 80% ตั้งแต่มีประเด็นสารพิษปนเปื้อน ซึ่งสีทน คำแปง ผู้จัดการปางช้างกะเหรี่ยงรวมมิตร บอกว่าขณะนี้รายได้ของปางช้างไม่เพียงพอ แต่ก็ต้องอยู่ให้ได้ เพราะช้างที่เลี้ยงเป็นเหมือนคนในครอบครัว
“ตอนเดือนเมษายน มีควาญช้างนำช้างไปอาบน้ำในแม่น้ำกก ตอนที่ผมไม่อยู่ พอขึ้นมาปรากฏว่าผิวหนังของช้างติดเชื้อเป็นผื่นและตุ่มใสๆ ขึ้น และกลายเป็นแผล ขณะที่ควาญช้างก็ติดเชื้อเป็นผื่นและแผลที่หัวเข่า ตอนนี้ทั้งควาญและช้างแผลเพิ่งตกสะเก็ด เชื้อในน้ำรุนแรงมาก” สีทนกล่าวกับสำนักข่าวชายขอบ
เขาบอกอีกว่า น้ำกกที่ไหลผ่านบริเวณปางช้างมีสารหนูเกินค่ามาตรฐาน จึงต้องห้ามช้างลงน้ำ อีกทั้งยังต้องลดปริมาณน้ำที่ช้างกิน จากที่เคยกินวันละ 2 ครั้ง แต่ละครั้งกินราว 12-15 คำ (ราว 8-10 ลิตรต่อคำ) ปัจจุบันเหลือครั้งละ 5-6 คำ ทั้งนี้เพราะช้างต้องเปลี่ยนแหล่งน้ำจากในแม่น้ำกก มากินน้ำจากประปาภูเขาแทน
ไม่เพียงเท่านั้น สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ยังชี้ถึงปัญหาเดียวกันในพื้นที่ จ.เชียงราย โดยเผยแพร่ภาพปลานานาชนิด ที่ติดเชื้อจากแม่น้ำกกและแม่น้ำโขง ในพื้นที่ จ.เชียงราย พร้อมระบุบริเวณที่พบปลาเหล่านี้ ได้แก่ จุดปากแม่น้ำคำ บ้านสบคำ ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ใต้ฝายป่ายางมน ตำบลริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย ใต้ฝายป่ายางมน ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย
สำหรับสาเหตุของสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ยืนยันกับ Thai PBS ว่า ‘เหมืองแรร์เอิร์ธ’ ซึ่งดำเนินการที่ต้นแม่น้ำกก มีผลกระทบต่อน้ำที่ไหลเข้าสู่ประเทศไทย ทั้งแม่น้ำบริเวณ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และที่ไหลผ่านตัวเมืองเชียงราย
เธอยังเปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียมของเหมืองแรร์เอิร์ธ บริเวณต้นแม่น้ำกก ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งห่างจากชายแดนไทย ราว 20 กิโลเมตร และห่างจากแม่น้ำกก 2-3 กิโลเมตร พร้อมระบุว่าในกระบวนการขุดเจาะแร่แรร์เอิร์ธ จะมีการใช้กรดฉีดเข้าไปในภูเขา เพื่อสกัดแร่ออกมา ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรง อย่างการทำให้น้ำและดินปนเปื้อนสารอันตรายหลายชนิด จนส่งผลกระทบต่อชุมชนในที่สุด
นอกจากนี้ เพียรพร กล่าวถึงความท้าทายของปัญหานี้ว่า บริเวณที่มีเหมืองแรร์เอิร์ธนั้น รัฐบาลเมียนมาอาจไม่มีอำนาจควบคุมและดูแลพื้นที่ เนื่องจากอยู่ภายใต้อิทธิพลของว้า จึงเกิดเป็นคำถามว่า การเจรจาแก้ไขปัญหาระหว่างฝ่ายรัฐบาลไทยกับผู้รับผิดชอบ จะใช้ช่องทางไหนและเป็นอย่างไรต่อไป
“เหมืองแรร์เอิร์ธที่ทำในเมียนมา ถูกระบุว่าเป็นเหมืองเถื่อน ไม่มีกฎหมายใดๆ กำกับ คำถามที่สำคัญ ถ้าเกิดขึ้นแบบนี้ประเทศไทย มีกฎหมายที่ค่อนข้างรัดกุม และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่รับรองสิทธิของประชาชน คุณภาพสิ่งแวดล้อม การลงทุนของจีนที่อยู่นอกประเทศไทย และอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ที่อยู่ในภาวะสงคราม
“ถ้าปล่อยไปแบบนี้ การทำเหมืองที่ไม่มีการควบคุม คนที่อาศัยในลุ่มน้ำจะลำบาก” เพียรพร เรียกร้องให้รัฐบาลจริงจังในการแก้ปัญหา และเร่งเจรจาแก้ไขให้เร็วที่สุด โดยหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ประชาชนจะได้รับอันตรายมากกว่าเดิม เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น และยังไม่เกิดหายนะทั้งลุ่มน้ำ
ด้าน สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ยังระบุถึง ‘ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาแม่น้ำกก 7 ข้อ’ จากภาคประชาชนในลุ่มแม่น้ำกกประเทศไทย ที่เสนอต่อรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ได้แก่
- แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชน และนักวิชาการ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาทั้งในแหล่งกำเนิดมลพิษ ระหว่างทาง และผู้รับผลพิษ จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำกก จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ภายใน 30 วัน
- เปิดเผยและซักซ้อมมาตรการรับมืออุทกภัยลุ่มน้ำกก และลุ่มน้ำสาย อย่างเป็นระบบ มีส่วนร่วม และมีประสิทธิภาพ
- สร้างความร่วมมือกับประเทศเมียนมา และกลุ่มกองกำลังว้า เพื่อเพิ่มจุดเก็บตัวอย่างน้ำ เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของสารปนเปื้อน ตลอดลำน้ำกก น้ำสาย ทั้งพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ทำเหมืองในรัฐฉาน ประเทศพม่า และพื้นที่แม่น้ำกกในประเทศไทย
- การสร้างระบบสื่อสารสาธารณะที่โปร่ง เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำ จ.เชียงราย
- การขยายขอบเขตการศึกษา และวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นการรุกล้ำหรือทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดลุ่มน้ำ
- เปิดการเจรจา 4 ฝ่ายคือ ไทย เมียนมา กองกำลังชาติพันธุ์ที่ควบคุมพื้นที่สัมปทานเหมือง และประเทศจีน เพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบ โดยมีกลไกระดับอาเซียนบวกประเทศจีน
- การแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะทำงานในทุกระดับให้มีสัดส่วนของประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบภาคประชาสังคม
อย่างไรก็ตาม สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ระบุว่า “ปัจจุบันยังไม่มีการเจรจาระหว่างประเทศ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำเหมืองต้นน้ำอย่างเป็นรูปธรรมเลย”
ย้อนอ่านไทม์ไลน์ การพบสารหนูในแม่น้ำกก จ.เชียงใหม่ ได้ที่: thematter.co
อ้างอิงจาก