จากกรณีสารพิษปนเปื้อนในแม่น้ำกก โดยที่ผ่านมาก็มีรายงานว่าปลาและช้างติดเชื้อ รวมถึงชาวบ้านได้รับผลกระทบ ทั้งด้านสุขภาพ ทั้งการท่องเที่ยวที่ซบเซา
นำไปสู่การตั้งคำถามต่างๆ จากสังคมว่า ตอนนี้สถานการณ์ที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงรายเป็นอย่างไร? ชีวิตของชาวบ้านเดือดร้อนกันแค่ไหน? และที่สำคัญที่สุด รัฐบาลมีความพยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างไรบ้าง? The MATTER จึงได้พูดคุยกับ เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) เพื่อตอบคำถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

ภาพมุมสูงของแม่น้ำกกที่ไหลผ่าน จ.เชียงราย
จุดเริ่มต้นของวิกฤต
“เรามีข้อสังเกตตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2567” เพียรพรเล่าจุดเริ่มต้นของวิกฤตนี้ว่า ในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมบริเวณ อ.แม่สาย และหลายพื้นที่ใน จ.เชียงราย ขณะนั้นแม่น้ำกกและแม่น้ำสายได้พัดพา ‘น้ำโคลน’ มาท่วมบ้านคนจนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ซึ่งหลายคนคงจำได้ว่า หลังจากเกิดภัยพิบัติ ก็มีมูลนิธิและหน่วยงานต่างๆ เข้ามาอาสาขุดดินโคลนบริเวณที่อยู่อาศัย และล้างบ้านคนอยู่หลายเดือน เนื่องจากโคลนที่ถูกสายน้ำพัดมานั้น มีปริมาณมหาศาล

สถานการณ์น้ำท่วม จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567
“มันเป็นความผิดปกติของน้ำท่วม” เพียรพรบอกว่า ในตอนนั้นทั้งคนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างแปลกใจว่า ทำไมน้ำท่วมจึงกลายเป็นโคลนเช่นนี้ได้ ทำให้หลายฝ่ายคาดว่า คงมีอะไรผิดปกติที่ตอนบนของประเทศ หรืออาจมีการปลูกยางพารา หรือข้าวโพด ที่ทำลายหน้าดิน
จนกระทั่งต้นปี 2568 ที่ผ่านมา ชาวบ้านที่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ได้สังเกตว่า “น้ำขุ่นผิดปกติ” ซึ่งเธอบอกว่า “จากปกติในช่วงปีใหม่ น้ำในแม่น้ำจะใสกว่านี้ ปรากฏว่าตั้งแต่นั้นน้ำมันขุ่นมาตลอด” ทำให้ต่อมา ในเดือนมีนาคมก็มีการเดินขบวนของชาวบ้าน เพื่อเรียกร้องให้หาสาเหตุและแก้ปัญหา เพราะมีผู้พบเห็นการทำเหมืองแร่ทองคำ บริเวณแม่น้ำกก ทำให้ชาวบ้านคาดว่าคือต้นตอของน้ำขุ่น อย่างเห็นได้ชัด
เหตุการณ์นั้นทำให้กรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ทุก 2 สัปดาห์ และพบสารหนูปนเปื้อน เกินค่ามาตรฐานตามจุดต่างๆ ในแม่น้ำกก อีกทั้งผลตรวจจาก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ก็พบสารโลหะหนัก โดยเฉพาะสารหนูเกินค่ามาตรฐานหลายจุด
“เกินมาเกือบ 5 เท่า ซึ่งมันสูงมาก” เธอระบุ
หลังจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำครั้งแรกในเดือนมีนาคม ก็มีการทำประกาศเตือน จาก จ.เชียงรายและหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ ให้ประชาชนงดการสัมผัสน้ำ จากลำน้ำกกโดยตรง พร้อมกำหนดข้อปฏิบัติต่างๆ

ป้ายประกาศเตือนประชาชน
ยิ่งกว่าเหมืองทอง คือเหมืองแร่แรร์เอิร์ธ
จากที่เราทราบแค่ว่ามีการทำเหมืองทองในเมียนมา แต่ไม่นานมานี้มีการเปิดเผยภาพถ่ายจากดาวเทียม ที่ชี้ให้เห็นการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธ (Rare Earth) บริเวณต้นน้ำกกด้วย ซึ่งเพียรพรบอกว่า “มันยิ่งน่ากลัวไปกันใหญ่เลย” เพราะสารปนเปื้อนที่น่าเป็นห่วงกว่า ซึ่งมาจากเหมืองแร่แรร์เอิร์ธ คือ ‘แคดเมียม’ โดยเมื่อรวมกับสารโลหะหนักอื่นๆ จากเหมืองทองที่มีอยู่แล้ว ก็กลายเป็นว่า
“แม่น้ำของเรา อยู่ๆ ก็กลายเป็นแม่น้ำพิษ”
เธอชี้ว่า “นี่เป็นเพียงบทแรกๆ ของหายนะเท่านั้น” เพราะว่าภาพถ่ายดาวเทียม จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ชี้ให้เห็นว่าการเปิดหน้าดินมากถึง 40 จุด ตลอดลำน้ำและต้นน้ำกก ซึ่ง “เพิ่งเริ่มต้นเมื่อปีที่แล้วนี่เอง” ดังนั้นหากเหมืองแร่ต่างๆ ยังดำเนินไปแบบนี้เรื่อยๆ วิกฤตนี้จะรุนแรงกว่านี้หลายเท่าตัว

มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ เปิดเผยภาพเหมืองแร่แรร์เอิร์ท ห่างจากชายแดนไทยที่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เพียง 25 กิโลเมตร
จะระยะสั้น กลาง หรือยาว ชาวบ้านก็เดือดร้อนทั้งหมด
แม้ว่าที่ผ่านมา การประปาส่วนภูมิภาคจะยืนยันว่า การบำบัดและผลิตน้ำประปานั้นอยู่ในค่ามาตรฐาน และสามารถกำจัดสารโลหะหนักเหล่านี้ออกไปได้ แต่เธอชี้ว่า “การใช้น้ำกก มันไม่ได้มีแค่นั้น”
เพียรพรตั้งคำถามว่า แล้วจะทำอย่างไรกับน้ำที่อยู่ในแม่น้ำ? เพราะชาวบ้านจำนวนมากมีวิถีชีวิตที่พึ่งพิงลำน้ำกก โดยน้ำที่อยู่ในแม่น้ำนั้น ถูกเอาไปใช้ในพื้นที่ชลประทานตลอดสองฝั่งแม่น้ำ “นับหมื่นไร่” ซึ่งเกษตรกรที่ปลูกข้าว หรือพืชพรรณต่างๆ ล้วนก็ต้องใช้น้ำโดยตรงจากแม่น้ำกก
นอกจากนี้ เมื่อน้ำดิบที่จะใช้บำบัดเป็นน้ำประปา เกิดการปนเปื้อน “คุณต้องเติมสาร 1 2 3 4 เข้าไป มันก็เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น” เธอกล่าวต่อว่า
“คุณเอางบประมาณของการประปามา ทำให้น้ำมันใส ให้มันสะอาดอยู่ในคุณภาพ โดยที่เอาภาษีประชาชนมาจ่าย”
อันตรายจากแม่น้ำปนเปื้อนยังไม่จบเพียงเท่านั้น โดยที่ผ่านมา เราอาจเห็นภาพชาวประมงจับปลาแค้ ที่เต็มไปด้วยตุ่มสยดสยอง กลายเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ชี้ว่า “สิ่งมีชีวิตใต้น้ำก็กำลังเผชิญพิษอยู่” เพียรพรกล่าวอีกว่า “นี่ไม่ต้องพูดถึงการเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร” เพราะในระยะยาว สารปนเปื้อนที่อยู่ในน้ำ ผัก ปลา จนถึงเนื้อสัตว์ต่างๆ ที่เราบริโภค จะกระทบถึงเราในที่สุด

ปลาติดเชื้อที่จับได้จากแม่น้ำ
“ไม่ใช่ทุกบ้านจะสามารถติดเครื่องกรองน้ำเพิ่มเติมได้ ไม่ใช่ทุกบ้านที่จะสามารถซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดกินได้” เธอกล่าว
สุขภาพของประชาชนจึงกลายเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ เพราะก่อนหน้านี้มีรายงานหลายจุด ที่คนลงเล่นน้ำแล้วมีตุ่มพุพอง เธอชี้ถึงอันตรายต่อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ว่าหากร่างกายมนุษย์ต้องสัมผัสสารปนเปื้อนอย่างต่อเนื่องว่า “อาจเป็นสาเหตุของมะเร็งต่างๆ โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือด ผลกระทบต่อทารกในครรภ์ หรือแม้กระทั่งพัฒนาการของเด็กที่อาจช้าลง”
อีกหนึ่งสิ่งที่น่ากังวลอย่างมากคือ ช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งลำพังแค่น้ำท่วมเฉยๆ เมื่อปีที่แล้ว สถานการณ์ก็สาหัสมากแล้ว แต่คราวนี้ “หากเกิดฝนตกมา เกิดโคลนพิษพัดมาถล่ม เชียงราย แม่สาย” แล้วประชาชนจำนวนมาก จะต้องเผชิญกับกับสารพิษปนเปื้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจะเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเพียรพรระบุว่า “ต้องคิดใหม่หมดเลยตอนนี้ หากใครจะไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย น้ำพวกนี้มันปนเปื้อนสารพิษทั้งสิ้น”
“พูดจริงๆ พี่เป็นคนทำงานแม่น้ำโขง มาตลอดอายุการทำงาน 25 ปีเนี่ย พี่ไม่เคยคิดเลยว่า มันจะกลายเป็นพื้นที่มลพิษที่สยองขนาดนี้”

เพียรพร ดีเทศน์ (ขวา) ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers)
“รัฐบาลรู้สึกรู้สมกับความเดือดร้อนนี้หรือเปล่า”
ตอนนี้สิ่งที่ควรจะทำที่สุดคือ รัฐบาลต้องเจรจากับกองกำลังว้า ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ เพื่อให้บริษัทเหมืองทั้งหลาย ยุติการดำเนินการทันที โดยต้องไม่ลืมว่า “เราพูดถึงกองกำลังเถื่อน ที่เขากำลังให้ทำเหมืองเถื่อน”
“อยากให้รัฐบาลไทยรู้สึกรู้สมกับความกังวล ความหวาดกลัวของชาวเชียงราย หรือประชาชนที่ใช้แม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำโขงในเวลานี้ มากกว่านี้ และก็ทำอะไรทันที” เพียรพรระบุว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ดังนั้นการสั่งการให้จังหวัดจัดการเพียงอย่างเดียว จึงอาจเกินขอบเขตไปมาก
เธอเล่าว่า จากที่ฟังจากหลายคนใน จ.เชียงราย โดยเฉพาะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ประสบภัย พวกเขากำลังเป็นห่วงและเครียดมาก ว่าแม่น้ำของเขากำลังปนเปื้อนด้วยสารพิษโลหะหนักมากมาย โดยเขาบอกว่า “ทำไมหน่วยงานรัฐฯ ถึงได้ให้ข้อมูลเหมือน เกินมาตรฐานเพียงเล็กน้อย” ทั้งๆ ที่ความเดือดร้อนของชาวบ้าน ไม่ได้เล็กน้อยไปด้วยเลย
ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังเชื่อว่า ปัญหานี้ยังเร่งด่วนและวิกฤตมาก ดังนั้นการแก้ไขเชิงรุกจากรัฐบาล จึงจำเป็น ไม่ว่ามาตรการด้านการค้าชายแดน ด้านความมั่นคงหรือเศรษฐกิจใดๆ รัฐบาลจำเป็นต้องงัดออกมาใช้ทันที เพื่อกดดันผู้รับผิดชอบทุกทาง โดยเพียรพรเสนอว่า “ยุติการค้าเลยถ้าคุณไม่หยุดเหมือง หรือจะตัดมากกว่านี้อีก งดการส่งออก-นำเข้าทุกอย่าง” พร้อมกล่าวว่า “หากจะปล่อยให้เป็นแบบนี้แล้วนึกว่า ว้าจะหยุดเอง เขาไม่หยุดหรอก”
“คุณต้องลงมาเดือดร้อนกับเรามากกว่านี้ แล้วก็ให้มันยุติทันที” เพียรพรย้ำ