“เราอยากจะบอกคนไทยและคนกัมพูชาว่า เราคือมนุษย์ด้วยกัน”
เสียงจาก ‘ซัง รี’ หญิงชาวกัมพูชา วัย 42 ปี ที่เดินทางเข้ามาเป็นแรงงานในแพปลา ที่จังหวัดจันทบุรี เป็นเวลาเกือบ 20 ปี เล่าให้ The MATTER ฟังถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปหลังจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งแม้จะมีการนัดหมายเจรจากันระหว่างรัฐบาลในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ แต่ผลกระทบและความตึงเครียดระหว่าง ‘แรงงาน’ นั้น ไม่ได้เย็นลงตามสถานการณ์เลยแม้แต่น้อย
ซัง เริ่มเล่าถึงประสบการณ์ที่เธอและเพื่อนๆ ชาวกัมพูชาได้รับจากที่ทำงาน หลังจากที่มีความขัดแย้งที่ชายแดนว่า “เพื่อนเราบางคนทำอาชีพขายอาหาร-ก่อสร้าง หลายๆ คนเล่าว่า เพื่อนร่วมงาน(คนไทย)มาถามเขาว่า ปราสาทที่ยังเป็นข้อพิพาทอยู่นี้ เป็นของใครกันแน่ ซึ่งเพื่อนก็ไม่รู้จะตอบยังไง”
“เมื่อวานเพื่อนมาเล่าว่าเขาป่วย เลยไปหาหมอและมีสิทธิบัตรประกันสุขภาพ แต่พอไปถึงพยาบาลบอกเขาว่าทำไมถึงไม่พากันกลับประเทศไปเลยล่ะ ไม่เห็นเหรอว่าประเทศมีเรื่องกันอยู่” ซังเล่า
#คนกัมพูชามองความขัดแย้งนี้อย่างไร?
ซัง เล่าว่า ชาวกัมพูชาก็พูดกันในกลุ่มว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง เป็นเรื่องกฎหมาย เรื่องทหาร รัฐบาลต่างๆ แต่ผลกระทบที่หนักที่สุดกลับมาตกที่แรงงาน และประชาชนที่อยู่ต่ำๆ และไม่มีอำนาจต่อรอง
“ส่วนคนในประเทศเองก็มองมุมเดียวกันหมดแหละ เพราะหากเขายอมตั้งแต่แรกมันไม่น่าจะส่งผลมาถึงแรงงาน และประชาชนได้ แต่ในเมื่อไม่ยอมกันมันเลยเป็นแบบนี้เพราะเอาจริงๆ แล้วก็ยังไม่รู้ว่ามันจะจบลงได้ยังไง” แรงงานกัมพูชาวัย 42 ปีเล่า
#กระแสชาตินิยมที่เข้มข้นขึ้นทำให้เกิดความกังวลไหม?
หญิงกัมพูชารายนี้ เล่าต่อว่า ในเวลานี้มีความกังวลกันว่าหากชาตินิยมมันรุนแรงขึ้น พวกเธอที่ยังอยู่ในไทยคงไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากยอมรับชะตากรรม “ถ้าสมมติว่าเขามีความโกรธแค้นขึ้นมา จะยิง จะฆ่าเรา ก็คงต้องยอมรับเพราะเราไม่มีทางเลือก เราอยู่ในประเทศเขา”
“จริงๆ ก็มีถามกันว่า อยากกลับประเทศกันไหม แต่เราก็ไม่อยากกลับเพราะเราอยู่ที่นี่กันจนชินแล้ว เราทำหากินเพื่อเลี้ยงครอบครัว ส่งกลับบ้าน แล้วพอจู่ๆ มันเกิดเรื่องแบบนี้ มันกะทันหันกันมากแล้วมันก็ส่งผลกระทบมาก” ซังกล่าว
#เราก็มนุษย์ด้วยกัน
ในฐานะตัวแทนเสียงของแรงงานกัมพูชาในไทย เธอบอกว่า “เราคือมนุษย์ด้วยกัน” และไม่อยากให้ทั้ง 2 ประเทศมีเรื่องขัดแย้งกัน “เราเกิดเป็นคนกัมพูชาก็จริง กัมพูชาเป็นบ้านเกิด แต่เรามาอยู่ที่ไทย และไทยเหมือนบ้านหลังที่ 2 ที่เราเลี้ยงชีวิต-เลี้ยงครอบครัวได้”
ซังบอกว่า ถ้ามันเป็นเรื่องการเมืองเราก็ไม่อยากให้ชาตินิยมกันเกินไป ทั้งกัมพูชาและไทย ไม่อยากให้เอาเรื่องต่างๆ มาประชดประชันกัน หรือทะเลาะกัน เพราะผลกระทบต่างๆ มันตกไปที่แรงงานข้ามชาติที่ไม่รู้เรื่องอะไร เช่นเดียวกับแรงงานไทยที่ไปอยู่กัมพูชา
“เราก็อยากให้เขาอยู่เป็นสุข ไม่ว่าจะชาติใดก็ตาม” – ซัง
จากสถานการณ์ความขัดแย้งบริเวณชายแดนช่องบก ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 28 พฤษภาคม ซึ่งนำไปสู่มาตรการตอบโต้ระหว่างไทยและกัมพูชา จนถึงมาตรการลดจำนวนวันพำนักในประเทศ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อประชาชน-นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อ ‘แรงงาน’ ด้วยเช่นกัน
ซังย้ำว่า หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นตอนนี้กะทันหันสำหรับแรงงานข้ามชาติอย่างพวกเธอมาก แม้กระทั่งกฎใหม่ที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนก็เช่นกัน
เอกสารตีตราด่วนที่สุด ลงวันที่ 8 มิถุนายน ถึงผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้ว เรื่องมาตรการควบคุมจุดผ่านแดนถาวร/จุดผ่อนปรนเพื่อการค้าฯ ในพื้นที่ชายแดนจังหวัดสระแก้ว ระบุให้คนสัญชาติกัมพูชาถือบัตรผ่านแดนเข้ามาในราชอาณาจักร ได้รับอนุญาตทำงานเป็นกรณีชั่วคราว ในช่วงระยะเวลาหรือตามฤดูกาลที่ท้องถิ่นกำหนด ซึ่งจากเดิมอนุญาตให้อยู่ได้ไม่เกิน 30 วันต่อครั้ง เปลี่ยนเป็นอนุญาตให้อยู่ได้ไม่เกิน 15 วันต่อครั้ง
“เมื่อก่อนอยู่ได้ 30 วัน แต่ตอนนี้อยู่ได้ 15 วัน แล้วก็มีบางคนเขามีลูกเล็กๆ มาด้วย ไม่มีใครเลี้ยงดู ก็เลยต้องเอาญาติผู้ใหญ่ที่ถือพาสปอร์ตนักท่องเที่ยวมาช่วยเลี้ยงหลานเพื่อให้พ่อ-แม่ไปทำงานช่วงกลางวัน ซึ่งก่อนหน้านี้สำหรับนักท่องเที่ยวเขาก็ให้อยู่ได้ถึง 60 วันแต่ตอนนี้เหลือแค่ 7 วัน” ซังเล่า และบอกว่า จากกรณีนี้ทำให้หลายๆ คนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นหลายด้าน
“สุดท้าย เราก็อยากขอบคุณคนไทยส่วนใหญ่ เขาดีมาก เขายังบอกพี่ด้วยว่าอย่ากังวลเลยนะ ยังไงก็เป็นพี่-น้องกันเหมือนเดิม เราก็เคยแอบถามว่าไม่รังเกียจเราเหรอ ซึ่งเขาก็บอกว่าเขาไม่ได้เกลียดเรา” ซังกล่าวทิ้งท้าย