นอกจากจะต้องจากบ้านมาไกลกว่า 6,800 กิโลเมตร คนไทยในอิสราเอลจำนวนมากต้องเผชิญกับภาวะสงครามโดยไม่ทันตั้งตัว
เช้าตรู่ของวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มฮามาส (Hamas) กลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ เปิดฉากยิงขีปนาวุธนับพันลูกจากกาซาสู่อิสราเอล จนจุดบางพื้นที่ให้ลุกเป็นไฟ และเป็นจุดเริ่มต้นให้อิสราเอลประกาศภาวะสงครามและเริ่มโจมตีโต้กลับ
นี่ไม่ใช่ความขัดแย้งที่เพิ่งเกิดขึ้น 2 ชาตินี้ขัดแย้งยืดเยื้อยาวนานหลายสิบปีแล้ว แต่หากต้องอธิบายเร็วๆ การโจมตีโดยฮามาสครั้งนี้ ถือเป็นการตอบโต้ที่อิสราเอลทำเลวร้ายต่อนักโทษปาเลสไตน์ในคุกอิสราเอล และที่บุกมัสยิดอัลอักซอ (Al-Aqsa) ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมในเยรูซาเล็ม
แม้ไม่เกี่ยวข้องกับปมขัดแย้งโดยตรง แต่คนไทยในอิสราเอลจำนวนมากได้รับผลกระทบจากสงครามนี้ บางคนต้องอพยพออกจากที่อยู่เดิม บางคนต้องดั้นด้นไปแอบในหลุมหลบภัย บางคนยังหาที่หลบไม่ได้ ต่างคนต่างพยายามเอาชีวิตรอดจากสงคราม ขณะที่บางคนไม่มีสิทธิกลับบ้านแบบที่ยังมีลมหายใจ
ล่าสุด (10 ตุลาคม 2566) กาญจนา ภัทรโชค โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเพิ่งรายงานตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการว่า มีคนไทยเสียชีวิต 18 คน บาดเจ็บ 9 คน ถูกจับเป็นตัวประกัน 11 คน และประสงค์เดินทางกลับบ้านกว่า 3,000 คน ขณะที่รายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากทุกฝ่าย (ทั้งชาวปาเลสไตน์และอิสราเอล) อย่างน้อย 1,500 ราย
The MATTER ติดต่อพูดคุยกับชาวไทยในอิสราเอลจำนวน 4 คน เพื่อถามไถ่สารทุกข์สุขดิบและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมนำเสนอความคาดหวังของพวกเขาที่มีต่อรัฐบาลไทยในสถานการณ์เช่นนี้
เมื่อปีที่แล้ว ‘เต๋า’ คนจังหวัดตาก เดินทางจากประเทศไทยมาเป็นแรงงานภาคเกษตรกรรมที่อิสราเอล เต๋าอาศัยอยู่ที่นิคมเกษตรกรรมอูริม ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ และใกล้เคียงกับพื้นที่ฉนวนกาซา นิคมเกษตรกรรมอูริมตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานที่จัดงาน Tribe of Nova เทศกาลดนตรีที่ก็กลายเป็นข่าวสลด เพราะเป็นงานเทศกาลที่ถูกเปลี่ยนเป็นสถานที่เกิดเหตุฆาตรกรรมหมู่โดยกองทัพฮามาส และมีรายงานร่างผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 260 ราย
เต๋าอยู่กับเพื่อนแรงงานไทยทั้งหมด 13 คน ทั้งนี้ เขาบอกกับเราเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมว่า ในเมืองที่อาศัยอยู่ยังมีการยิงกันอย่างต่อเนื่อง แต่โชคดีที่ยังไม่มีใครใกล้ตัวที่ได้รับบาดเจ็บ
เมื่อถามว่ามีที่หลบภัยหรือปัจจัยสี่เพียงพอดีไหม เต๋าบอกกับเราว่า “ไม่มีที่หลบภัย มีแต่บังเกอร์ ส่วนอาหารเหลือกินไม่ถึงอาทิตย์นี้แล้วครับ” เราจึงถามต่อว่า วางแผนอย่างไรหากอาหารใกล้หมด เต๋าตอบทันทีว่า “ยากครับ ตอนนี้คิดอยู่อย่างเดียวว่า ขอให้ตัวเองปลอดภัยก็พอครับ”
ตั้งแต่การโจมตีเปิดฉาก เต๋าเล่าว่าตนยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรเลย เขาจึงกลัวและกังวลกับสถานการณ์สงครามนี้มาก พร้อมบอกว่าอยากให้รัฐบาลไทยช่วยอพยพคนออกจากพื้นที่และพากลับบ้านเกิด
“ขอให้คนไทยทุกคนกลับไปถึงอ้อมกอดของพ่อแม่” คือข้อความล่าสุดที่เต๋าบอกกับเรา
เราติดต่อ ‘เท่ห์ หัสดิน’ แรงงานไทยที่โพสต์อัพเดทสถานการณ์รอบตัวให้กลุ่มเพื่อนแรงงานไทยในอิสราเอลอยู่บ่อยๆ เช่น คลิปการโจมตีทางอากาศในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยเสียงไซเรน และโพสต์เล่าว่ามีระเบิดลง 1 ลูกในบริเวณใกล้เคียงที่เขาอยู่อาศัย
เท่ห์ เป็นแรงงานภาคเกษตรกรรมเช่นเดียวกับเต๋า แต่เขาอาศัยอยู่เขตเมืองโอฟาคิม (Ofakim) เมืองทางตอนใต้ใกล้ชายแดนฉนวนกาซา ซึ่งเป็นเมืองที่เกิดการโจมตีอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดี เท่ห์บอกกับเราว่าหลบอยู่ในหลุมหลบภัยเรียบร้อยแล้ว และยังพอมีน้ำและอาหารอยู่
“อยากให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการช่วยเหลือให้เร็วที่สุดครับ ทุกคนคิดถึงบ้าน แต่ตอนนี้ยังไม่มีทางการรัฐมาช่วยครับ มีแต่หัวหน้าคนอิสราเอลที่กำลังดำเนินการช่วยอพยพอยู่ครับ” เท่ห์ บอกด้วยความกังวล ด้วยรู้สึกว่าชั่วโมงนี้เป็นตายเท่ากัน เพราะมีเพื่อนนิคมเกษตรกรรมอื่นที่โดนยิงเสียชีวิตไปแล้ว
อย่างไรก็ดี ในที่หลบภัยของเท่ห์ยังไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่พวกเขาและหัวหน้าคนอิสราเอลกำลังวางแผนที่จะอพยพหนีไปพื้นที่อื่นแทน หรือก็คือ บริเวณชายแดนติดอียิปต์
เมื่อถามถึงเรื่องการกลับไทย เท่ห์ฝากเราเป็นกระบอกเสียงต่อรัฐบาลว่า “บางคนเขาอยากกลับบ้าน แต่เขาไม่มีเน็ตเพื่อลงทะเบียนกลับบ้าน บางคนก็แอบเอาชีวิตรอดอยู่ ไม่มีเวลาจะมาลงแบบฟอร์มที่ทางรัฐให้กรอกครับ คนอยากกลับมีเยอะมากครับ แต่ข่าวออกแค่ 1,000 กว่าคน”
“ถ้าสำหรับตัวผม ผมก็อยากอยู่ดูเหตุการณ์ก่อน ถ้ารุนแรงขึ้นอีกก็คงกลับบ้านครับ ทุกคนคิดแบบนี้ แต่ก็อยากให้ช่วยคนไทยที่เดือดร้อนจริงๆ ได้กลับบ้านครับ และถ้าหมดสงครามก็อยากให้สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ ผมเชื่อว่าคนไทยในอิสราเอล 95% คิดแบบนี้” เท่ห์ ทิ้งท้าย
ข้อความล่าสุดที่เท่ห์บอกกับเรา คือ จะต้องย้ายที่อยู่แล้ว จึงอาจไม่สะดวกตอบข้อความอีก
‘บรรยงก์’ คืออีกแรงงานจากจังหวัดตากที่มาทำงานในอิสราเอลโดยโครงการของรัฐบาล แม้จะไม่ได้ทำงานและอาศัยอยู่ใกล้จุดที่เกิดการปะทะ แต่เขาก็มีความกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
บรรยงก์อาศัยอยู่ที่เมืองคัตเซว่า (Hatzeva) เมืองที่ห่างออกจากจุดปะทะออกกว่าร้อยกิโลเมตร อย่างไรก็ดี การอยู่ห่างออกมาก็ไม่ได้ทำให้เขาคลายกังวลว่าจะการโจมตีจะขยายพื้นที่หรือไม่ เพราะหากโดนบุกโจมตีจริง ต้นมะเขือจะเป็นเพียงที่หลบภัยเดียวของเขาและเพื่อนแรงงาน
“ตกใจครับ ต่อให้ผมจะอยู่ไกลจากที่เกิดเหตุ แต่ผมก็ระแวงตลอด ขนาดอยู่ๆ มีรถ 2 คันขับมาจอดด้านหน้าสวน พวกผมยังกลัวเลยครับ เพราะเราไม่รู้เลยว่าเป็นใคร กลัวจะเปิดประตูรถออกมายิงใส่เรา ทำงานไปก็คิดมากไป” บรรยงก์บอกกับเรา
แต่แรงงานคนนี้ก็ไม่ได้อยากกลับบ้าน ยกเว้นว่าเกิดการโจมตีในบริเวณที่อยู่อาศัย เพราะเขาให้เหตุผลว่า แรงงานไทยส่วนมากไม่มีใครอยากกลับ ยังมีหนี้สินที่ต้องรับผิดชอบ และมีลูกหลานให้ต้องดูแล หากกลับไทยไปก็คงลำบาก
บรรยงก์มองการตัดสินใจตัวเองครั้งนี้ว่า หากสงครามหนักจริง ก็คงทำอะไรไม่ได้เพราะได้เลือกไปแล้ว แต่หากมีนโยบายช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย เช่น นโยบายพากลับไทยชั่วคราว และพากลับอิสราเอลเมื่อสงครามสงบ เขาเชื่อว่าจะใครๆ ก็คงกลับเพราะกลัวเสียชีวิต
“ทุกคนกลัวตายกันหมดแหละ แต่ก็กลัวกลับไปแล้วจะไม่ได้มาอีก ถ้ามีนโยบายนี้ผมจะขอกลับคนแรกเลยครับ” บรรยงก์ ระบุ
เมื่อถามว่าอยากฝากอะไรถึงรัฐบาลไทย บรรยงก์ตอบกลับว่า อยากให้รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ทำนโยบายให้แรงงานที่ทั้งถูกและผิดกฎหมายได้ลากลับไทยเป็นเวลา 6 เดือน หรือจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แล้วค่อยให้กลับมาอิสราเอล
ติ๊ก แม่บ้านไทยในอิสราเอล คืออีกคนที่เราสามารถติดต่อได้ เธออาศัยอยู่ในเยรูซาเล็ม และเป็นคนไทยที่อาสาช่วยเคลื่อนย้ายแรงงานไทยออกจากเขตพื้นที่สีแดง
ติ๊กยืนยันว่าจุดที่เธออยู่ยังไกลจากสงคราม แต่ระหว่างสนทนากัน มีรายงานข่าวว่าเสียงไซเรนดังขึ้นที่นครเยรูซาเล็ม เธอหายไปจากบทสนทนาพักหนึ่ง ก่อนจะกลับมาเล่าว่า ยังปลอดภัยดี แต่ขณะไซเรนดังก็ต้องเข้าห้องหลบภัยภายในที่พัก
เราจึงถามว่า รู้สึกอย่างไร อยากกลับบ้านไหม ติ๊กตอบกลับว่า สำหรับเธอสบายมาก ตอนนี้พยายามหาทางช่วยเหลือเพื่อนแรงงานออกจากจุดอันตราย เพราะเห็นว่าชีวิตพวกเขาก็สำคัญเหมือนกัน
“พี่ไม่ได้คิดถึงตัวเองเท่าไหร่ พี่ไม่กลัวตาย คงจะกลับคนท้ายๆ ละมั้ง เกิดครั้งเดียวก็ตายครั้งเดียว ขอทำประโยชน์ให้มากที่สุด ทางครอบครัวก็เรียกให้กลับนะ แต่พี่บอกแล้วว่าไม่ต้องห่วงและคงยังไม่กลับ”
ในฐานะที่เธอคอยให้ความช่วยเหลือสนับสนุนแรงงานไทย ติ๊กตั้งข้อสังเกตว่าสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ไม่ควรปิดให้บริการฝ่ายกงสุลที่มีหน้าที่ข้องเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง (passport) ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่กี่ชั่วโมง สถานทูตฯ เพิ่งประกาศปิดให้บริการฝ่ายกงสุลโดยให้เหตุผลว่า “เพื่อให้เจ้าหน้าที่มุ่งช่วยเหลือคนไทย” จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
ติ๊กกล่าวว่า “การที่สถานทูตปิดทำพาสปอร์ตตอนนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะคนไม่มีพาสปอร์ต หรือพาสปอร์ตหาย จะไม่สามารถไปทำพาสปอร์ตเพื่อเดินทางได้ หรือ ไม่สามารถลงทะเบียนขึ้นเครื่องได้เลย แย่มาก ช่วยกระทุ้งให้หน่อยว่าตอนนี้ไม่สมควรปิดนะ” นอกจากนี้ เธอประเมินว่า โดยเบื้องต้น แรงงานไทยต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่างๆ ส่วนในกรณีเร่งด่วน คือ ต้องการความช่วยเหลือในการอพยพแรงงานออกจากพื้นที่สีแดง และช่วยเหลือตัวประกันชาวไทย
หลับจบบทสนทนาไม่กี่ชั่วโมง ติ๊กโพสต์คลิปตัวเองขณะอยู่ในห้องหลบภัยท่ามกลางเสียงหวอไซเรน ระหว่างอัดคลิป เธอบันทึกเสียงและนับให้ฟังว่ามีเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้นกว่า 10 ครั้ง
คนไทยจำนวนไม่น้อยอาศัยอยู่ในอิสราเอล โดยเฉพาะแรงงาน ข้อมูลจากกรมการจัดการงาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ในปี 2566 มีแรงงานไทยในอิสราเอลกว่า 25,887 คน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานหลักในภาคการเกษตร ด้วยสินค้าส่งออกหลักของอิสราเอล คือ สินค้าเกษตร
เหตุผลที่มีคนงานไทยไปทำงานที่นู่นเยอะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีโครงการความร่วมมือไทย–อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน (TIC) หรือก็คือ โครงการที่รัฐบาลไทย กำกับโดยกรมจัดหางาน จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในอิสราเอล
ซึ่ง พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.อนาคตใหม่ และโฆษกคณะก้าวหน้า ตั้งข้อสังเกตระหว่างสัมภาษณ์กับมติชนถึงปมแรงงานไทยในอิสราเอลว่า แรงงานไทยบางคนกู้หนี้ยืมสินเพื่อบินมาอิสราเอล การบินกลับบ้านจึงไม่ใช่จุดจบ เพราะแรงงานจำนวนมากยังไม่มั่นใจว่า หากกลับแล้วจะเสียสิทธิไหม จะมาอีกรอบได้ไหม หรือหากกลับก่อนจนผิดสัญญาจ้างการทำงานจะโดนอะไรบ้าง
“จริงๆ ตามกฎของกระทรวงแรงงาน การที่แรงงานต้องกลับกระทันหันเพราะเกิดสงคราม มันมีเงื่อนไขที่เขาจะได้รับความช่วยเหลือและยกเว้นเงินอยู่แล้ว คิดว่านี่คือสิ่งที่กระทรวงแรงงานควรดำเนินงานต่อไป อันนี้คือเรื่องเฉพาะหน้า”
“การกลับมารอบนี้ ช่วยทำให้พี่น้องแรงงานสบายใจว่าเขาจะได้รับการดูแล อย่างน้อยที่สุด คุณต้องการันตีว่า พวกเขากลับมาด้วยเหตุฉุกเฉินสงครามนะ พอมันดีขึ้นแล้วเขาต้องได้กลับไป ไม่ใช่ว่าต้องไปต่อคิวขอใหม่หรือเสียเงินอีกรอบ” พรรณิการ์ กล่าว
สอดคล้องกับที่ ‘เท่ห์’ และ ‘บรรยงก์’ บอกกับเราทำนองว่า ทุกคนล้วนกลัวตายและอยากกลับบ้าน แต่ก็กลัวจะไม่ได้กลับมาทำงานที่นี่อีก
อ้างอิงบางส่วนจาก