V. S. Naipaul เป็นนักเขียนรางวัลโนเบลที่เพิ่งจากเราไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ภูมิหลังของไนพอลเป็นคนที่เกิดในตรินิแดด ดินแดนในอาณานิคม ก่อนจะได้รับทุนการศึกษามาเรียนที่อ๊อกซฟอร์ด ใจกลางของดินแดนเจ้าอาณานิคม หลังจากนั้นไนพอลจากที่เป็นคนนอกก็ฝึกฝนทักษะทั้งในเชิงภาษา ความคิด และการเขียน จนกลายเป็นนักเขียนที่เขียนผลงานเป็นภาษาอังกฤษที่ทรงอิทธิพลทางความคิดคนหนึ่ง
คำแนะนำสำหรับนักเขียนมือใหม่ของไนพอล แม้ว่าดูจะเป็นคำแนะนำสำหรับการเขียนที่ดีในภาษาอังกฤษ แต่โดยรวมสามารถนำมาปรับใช้กับการเขียนเพื่อสื่อสารความคิดในความหมายทั่วไปได้ คำแนะนำเช่นว่า ไม่ควรเขียนยาวเกินไป ประโยคแต่ละประโยคควรมีใจความชัดเจน ถ้าเขียนสั้นได้ก็ควรสั้น ไปจนถึงข้อสุดท้ายอันเป็นเทคนิคการฝึกการเขียนก็เป็นวิธีฝึกวิชาที่เวรี่มีประโยชน์ ตัวไนพอลเองเคยให้สัมภาษณ์ว่าบางครั้งเขาก็ลืมวิธีการเขียนที่ผ่านๆ มาแล้วกลับมานั่งเขียนประโยคเรียบง่ายพื้นฐาน
สำหรับชุดคำแนะนำทั้ง 7 ข้อ มาจากบันทึกของ Amitava Kumar คอลัมนิสต์และนักหนังสือพิมพ์ของ Tehelka นิตยสารข่าวของอินเดีย Kumar ได้ชุดคำแนะนำนี้จากการไปทำงานวันแรก แล้วไปเจอแผ่นกระดาษที่เขียนกฎทั้ง 7 ข้อไว้บนโต๊ะเพื่อนร่วมงาน ตัวเพื่อนร่วมงานบอกว่าได้กฎ 7 ข้อนี้มาจากตอนที่นักข่าวไปสัมภาษณ์ไนพอลแล้วถามถึงคำแนะนำสำหรับนักเขียนมือใหม่ พอไนพอลบอกมา นักข่าวคนนั้นก็จัดการเขียนลงกระดาษและแฟ็กซ์ให้ไนพอลตรวจทาน จนกลายมาเป็นกฎสำคัญ 7 ข้อ ที่เพื่อนนักข่าวและนักข่าวคนอื่นๆ ในกองแปะไว้ที่โต๊ะเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ
Kumar บอกว่าคำแนะนี้มีประโยชน์มากๆ โดยเฉพาะช่วงมาทำงานเขียนแรกๆ ที่ยังคงติดสำนวนวิธีการเขียนที่ยืดยาวและศัพท์แสงเฉพาะทั้งหลาย ข้อคิดเทคนิคการเขียนชุดนี้ช่วยให้ทบทวนและลองเขียนใหม่ให้อ่านง่ายขึ้น เรียบง่ายขึ้น ชัดเจนขึ้น
กฎสำหรับนักเขียนมือใหม่ จาก V. S. Naipaul
1. อย่าเขียนประโยคยาว
หนึ่งประโยคควรมีไม่เกิน 10-12 คำ
2. แต่ละประโยคควรมีความชัดเจน
ประโยคแต่ละประโยคควรมี ‘ความ’ ที่ต่อเนื่องกับประโยคก่อนหน้า ย่อหน้าที่ดีประกอบด้วยประโยคที่ชัดเจนและมีความเชื่อมโยงกัน
3. ไม่ควรใช้คำใหญ่
ถ้าคอมพิวเตอร์บอกว่าคำที่เราใช้ส่วนใหญ่เป็นคำยาวๆ อลังการ ต้องระวัง! (แปลว่าเรากำลังใช้คำใหญ่ๆ เสมอ) การใช้คำเล็กๆ ทำให้เราขบคิดกับสิ่งที่เราเขียนอยู่ แม้แต่แนวคิดยากๆ ทั้งหลายยังสามารถแตกและอธิบายได้ด้วยคำเล็กๆ (คำที่เรียบง่าย)
4. ห้ามใช้คำที่เราไม่แน่ใจความหมาย
ถ้าไม่ทำตามกฎนี้ ควรไปหางานใหม่ซะ
5. มือใหม่ควรระวังการใช้คำคุณศัพท์ ยกเว้นคำขยายว่าด้วยสี ขนาด และจำนวน
รวมถึงใช้คำวิเศษ (adverb) ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
6. หลีกเลี่ยงความเวิ้งว้าง (abstract)
พยายามเขียนให้ชัดเจน (concrete—ไม่เป็นนามธรรมจนเกินไป ไม่งง ไม่เลื่อนลอย-ผู้แปล)
7. ทุกวัน นับจากนี้อย่างน้อยหกเดือนให้ฝึกฝนการเขียนตามกฎที่ว่ามา
เขียนประโยคที่ใช้คำง่ายๆ ชัดเจน และมีความเป็นรูปธรรม อาจจะรู้สึกแปลกๆ นิดหน่อย แต่ว่าถือเป็นการฝึกฝนการใช้ภาษา การฝึกนี้อาจจะช่วยปรับการใช้ภาษาแย่ๆ ที่เรามักติดมาจากการเขียนในมหาวิทยาลัย หลักจากฝึกเขียนประโยคการสื่อความพื้นฐานแล้วเราถึงค่อยเขียนอะไรที่พ้นไปจากกฎง่ายๆ เหล่านี้ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก