การเขียนเป็นศิลปะ เป็นสิ่งที่แสดงความคิด ตัวตน รสนิยมและสไตล์ของเรา
ใครๆ ก็อยากเขียนหนังสือดี แต่การเขียน – การที่เราจะกลั่นกรองความคิดที่เป็นนามธรรมออกมาเป็นตัวอักษร ค่อยๆ ร้อยเรียงความออกมาเป็นคำ เป็นประโยค เป็นย่อหน้า ก่อนจะจบลงด้วยหน้ากระดาษยาวๆ – เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ศาสตร์ เป็นเรื่องของการวางโครงสร้าง วางคำอย่างเป็นระบบเพื่อสื่อความหมาย และเกี่ยวข้องกับศิลปะ เป็นเรื่องการเลือกใช้คำ ใช้ศิลปะของถ้อยคำ การเขียนเป็นเรื่องของสไตล์ สำนวนเขียนดูจะเป็นสิ่งที่แสดงความคิดและตัวตนของเรา
‘อ่านเยอะๆ’ และ ‘เขียนใหม่’ (rewrite) ดูจะเป็นคำแนะนำพื้นฐานสำหรับนักอยากเขียน นักคิดนักเขียนทั้งหลายที่ทำงานและขบคิดเรื่องการเขียนมาอย่างยาวนานต่างก็พยายามถ่ายทอดวิชาการเขียนและให้คำชี้แนะ หนังสือหลายเล่มที่พูดเรื่องการเขียนและการเขียนที่ดี กลายมาเป็นหนังสือจำเป็นสำหรับใครที่อยากเขียนเก่งต้องอ่าน
The MATTER ชวนไปอ่านหนังสือ 7 เล่มว่าด้วยการเขียน สำหรับคนที่สนใจและอยากฝึกฝนฝีมือการเขียนของตัวเองให้เก่งกาจคมคายมากขึ้น เรียนรู้จากหนังสือคลาสสิกด้านการเขียน ไปจนถึงประสบการณ์โดยตรงจากเหล่านักเขียนของยุคสมัย เพราะการเขียนเป็นเรื่องของการฝึกเขียน เป็นการฝึกคิดและหัดขบเข้าใจโลก
The Elements of Style – William Strunk Jr.
อยากเขียนหนังสือดีๆ อ่านเล่มนี้สิ The Elements of Style เป็นหนังสือระดับคัมภีร์ที่คนอยากหัดเขียนต้องอ่านใช้กันมาตั้งแต่ปี 1981 งานเขียนคลาสสิกเล่มนี้บอกลักษณะพื้นฐานของ ‘งานเขียนที่ดี’ สมชื่อว่าอะไรคือพื้นฐานองค์ประกอบของสไตล์การเขียนที่ดี จะเขียนอย่างไรให้สื่อความได้ชัดเจน แจ่มแจ้ง เรื่องพื้นฐานที่หลายครั้งเรามักหลงไป เช่น การลดคำที่ไม่จำเป็น การใช้รูปประโยคที่ตรงไปตรงมา ไปจนถึงการวางโครงสร้างของงานเขียนเป็นระบบ คำและความทุกจุดที่ใช้ต้องสื่อความหมาย เล่มนี้ถือเป็นตำราหลักที่พูดเรื่องพื้นฐานสำคัญของงานเขียนและการเขียน
Bird by Bird: Some Instructions on Writing and Life – Anne Lamott
ชีวิตกับงานเขียนดูจะเป็นการเรียนรู้ที่เคียงข้างกันไป Anne Lamott เป็นนักเขียนเจ้าของผลงานทั้งนวนิยายและเชิงสารคดี หนังสือ Bird by Bird เป็นหนังสือบันทึกประสบการณ์ชีวิตและข้อแนะนำเรื่องการเขียนขึ้นที่ปรุงด้วยอารมณ์ขัน งานเขียนชิ้นนี้พูดถึงประเด็นและประสบการณ์ที่คนเขียนทุกคนเคยเจอ เป็นคำแนะนำว่าเราจะเริ่มเขียนยังไง ดราฟต์แรกมันทุเรศทุรังแค่ไหน ไปจนถึงเจอปัญหาความตัน เขียนไม่ออกจะแก้ไขอย่างไรดี เป็นงานเขียนที่ทำให้เราเข้าใจว่า เราไม่ได้ดิ้นรนกับการเขียนอยู่คนเดียว
The Sense of Style: The Thinking Person’s Guide to Writing in the 21st Century – Steven Pinker
Steven Pinker เป็นนักวิจัยและนักเขียนที่ทำเรื่องภาษา สมองและระบบความคิด เป็นหนึ่งในคนที่เขียนเก่งและนำเสนอความรู้ยากๆ ให้กลายเป็นงานเขียนขายดีในระดับโลกได้ The Sense of Style จึงเป็นหนังสือที่ผนวกทั้งองค์ความรู้ทางภาษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และความรู้เรื่องสมองกับการสื่อสารเข้าไปเป็นงานที่วิทยาศาสตร์เข้ามาบรรจบกับศิลปะของการเขียน ทั้งในแง่ของการทำความเข้าใจเรื่องการเขียนในศตวรรษที่ 21 และคำแนะนำในการฝึกเขียนและการเขียนงานที่ดี
Writing Tools: 50 Essential Strategies for Every Writer – Roy Peter Clark
Roy Peter Clark บอกว่าการเขียนเป็นงานฝีมือที่เราเรียนรู้กันได้ และสิ่งที่เราทุกคนต้องการคืออุปกรณ์ (tool) ไม่ใช่กฏ (rule) ที่จะเอามาใช้ งานเขียนชิ้นนี้เลยเสนอ 50 กลยุทธ์อันเป็นอุปกรณ์การเขียนที่มีประสิทธิภาพ คำแนะนำย่อยๆ ก็เช่น การสร้างประโยคที่ยึดประธานและกริยาเอาไว้ หรือการค่อยๆ เผยเรื่องราวต่างๆ ในการเล่าเรื่อง งานเขียนชิ้นนี้เหมาะทั้งกับนักเขียนและบรรณาธิการ เป็นงานเขียนที่เปลี่ยนคนอ่านไปสู่การเขียนที่ดีขึ้น
Ernest Hemingway on Writing – Ernest Hemingway
ปกติ เฮมิงเวย์ นักเขียนอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 จะไม่ค่อยพูดเรื่องการเขียนเท่าไหร่ Ernest Hemingway on Writing เป็นการรวบรวมข้อเขียนที่กระจัดกระจายของเฮมิงเวย์ในประเด็นเรื่องการเขียนและการทำงาน แน่นอนว่าคำแนะนำต่างๆ ของป๋าเฮมิงเวย์ย่อมเป็นคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ครอบคลุมประเด็นทั้งเรื่องการสร้างงานเขียน การสร้างนิสัยและวินัยในการทำงาน คำแนะนำของเฮมิงเวย์ประกอบขึ้นด้วยมุมมองที่รุ่มรวย คมคาย กลั้วไปด้วยอารมณ์ขันและมุมเชิงลึก ทัศนคติสำคัญของป๋าคือความซื่อสัตย์และความเป็นมืออาชีพของการเป็นนักเขียน
On Writing: A Memoir of the Craft – Stephen King
เลอค่าแน่นอน เมื่อเจ้าพ่องานเขียน Stephen King ครุ่นคิดและบันทึกเรื่องราวการเขียนของตัวเอง เป็นคำแนะนำและประสบการณ์ชั้นยอดสำหรับอนุชนคนรุ่นหลัง (เวอร์ไปไหม) งานเขียนชิ้นสำคัญว่าด้วยการเขียนนี้พูดถึงประสบการณ์ชีวิตนักเขียน การถกเถียงเรื่องการเขียนและการเป็นนักเขียน ไปจนถึงอุปกรณ์การเขียนที่คิงให้คำแนะนำนักเขียนรุ่นหลังอย่างละเอียดถี่ถ้วน ใครล่ะจะไม่อยากเรียนรู้วิชาการเขียนจากนักเขียนสำคัญคนหนึ่งแห่งยุค
2017 AP Stylebook
มาสู่งานร่วมสมัย เราต่างรู้จักสำนักข่าว AP สำนักข่าวระดับโลก ทางสำนักข่าวมีการออก ‘แนวทางคร่าวๆ’ สำหรับการเขียนเชิงรายงานข่าว ไม่ว่าจะในส่วนข่าวแง่มุมไหน เป็น stylebook ที่พูดถึงวิธีการเขียนตั้งแต่การใช้ไวยากรณ์ เครื่องหมายวรรคตอน ไปจนถึงการเขียนใน section เฉพาะใหม่ๆ ที่ครอบคลุมแทบทุกมิติ ตั้งแต่ธุรกิจ อาหาร แฟชั่น กีฬา ศาสนา ไปจนถึงการเขียนในโซเชียลมีเดียและการทำงานข่าวเชิงข้อมูล (data journalism) ถือว่าเป็นหนังสือพื้นฐานทางการเขียนที่ควรมีติดบ้านไว้
สนใจดูรายละเอียดได้ที่ : https://store.apstylebook.com/2017-ap-stylebook-print-edition.html
อ้างอิงข้อมูลจาก