ความคาดหวังเคยทำร้ายคุณยังไงบ้าง?
บทเวทีตรงหน้าของเรา คือนักเรียนวัยมัธยมต้นคนหนึ่ง กำลังยืนเล่าถึงชีวิตที่ถูกคาดหวังว่าต้องสมบูรณ์แบบในแทบทุกมิติของชีวิต เคยร้องไห้หนักที่สุดในชีวิตเพราะกลัวว่า ผลการเรียนที่เปลี่ยนแปลงไปจะทำให้คนรอบข้างผิดหวังได้
ใบเฟิร์น—ชมพูนุท คำบุญเรือง คือคนนั้น เราได้ฟังเธอพูดถึงเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต การต่อสู้และเผชิญหน้ากับ ‘ความคาดหวัง’ จากผู้ใหญ่ที่มักจะมาในนามของ ‘ความหวังดี’ เธอเล่าเรื่องนี้บนเวที TEDxYouth@Bangkok 2019 ในฐานะสปีกเกอร์คนหนึ่งของงานดังกล่าว
ด้วยเรื่องราวต่างๆ ที่เราได้ฟังและแปลกใจว่า ทำไมนักเรียนในวัยมัธยมต้นต้องเผชิญกับความกดดันมากมายเช่นนี้ เราจึงนัดคุยกับเธอเพิ่มเติมหลังจากงานเลิก เพื่อเข้าใจสิ่งที่เธอต้องแบกรับ และวิธีเอาชนะความคาดหวังจากคนรอบข้าง
ใบเฟิร์นตั้งชื่อทอล์คของตัวเองบนเวทีว่า เพราะเป็น Perfectionist จึงเจ็บปวด เราอยากรู้ว่าทำไมถึงต้องเป็นเรื่องนี้
มันมาจากประสบการณ์ตัวเราเอง มาจากความรู้สึกว่าการที่ตัวเราทำอะไรสักอย่างแล้วไม่สมบูรณ์แบบตามที่ถูกคาดหวังไว้ มันก็ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด เราเคยเป็นคนที่อยากสมบูรณ์แบบมาโดยตลอด เวลาคนที่ไม่เคยแพ้แล้วต้องมาแพ้ มันก็เลยเจ็บปวดมากๆ เราเลยเลือกเรื่องนี้มาพูด เพราะอยากให้คนรู้ว่าคนที่เคยเป็น Perfectionist นั้นเขารู้สึกกันยังไง
เริ่มรู้ตัวตั้งแต่เมื่อไหร่ว่าเราเป็น Perfectionist
มารู้ตัวในตอนที่ได้เกรด 3.9 ก่อนหน้านี้เราไม่เคยรู้สึกเลย เพราะเคยได้เกรด 4.0 มาตลอด
เครียดไหมเมื่อต้องทำให้ตัวเองได้ 4.0 ให้ได้เสมอๆ
เครียดนะ โดยเฉพาะตอนที่เราขึ้นมาอยู่ชั้นมัธยม เนื่องจากความรู้มันก็ต่างไปแล้ว เรารู้สึกว่ามันยากมากๆ และเราต้องรักษาระดับตัวเองมาตลอด คนรอบข้างมักจะบอกเราอยู่เสมอๆ ว่าห้ามแพ้นะ ห้ามเกรดตกนะ มันเลยเป็นอะไรที่เรากดดันตัวเองมากๆ
ที่ผ่านมาใบเฟิร์นเรียนหนักแค่ไหน เรียนพิเศษด้วยไหม
เรียนพิเศษค่ะ วันหยุดเสาร์อาทิตย์ เราไม่ได้พักเลยทั้งสองวัน เราเป็นคนชอบเรียนพิเศษอยู่แล้ว เริ่มเรียนพิเศษภาษาอังกฤษตั้งแต่ตอนอนุบาลสาม
เรียนเร็วมากเลย ตอนนั้นเรียนยังไงบ้าง
เป็นเรียนภาษาอังกฤษกับคนต่างชาติ แล้วก็มีเรียนพวกความสามารถทั่วไป
จากคนที่โฟกัสกับการเรียนมากๆ มาถึงวันที่เกรดตัวเองตกเป็นครั้งแรก เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่ามันเกิดอะไรขึ้น
ตอนนั้นเราโทรหาอาจารย์ ตอนแรกอาจารย์ก็จะไม่บอก สุดท้ายแล้ว อาจารย์บอกว่าเกรดตกมาตัวหนึ่ง เราตกใจมากๆ ตอนนั้นน้ำตาไหลเลย พอวางหูจากอาจารย์ เราก็ร้องไห้หนักแบบน้ำท่วมบ้าน เป็นความรู้สึกที่เราไม่คิดว่าจะเจอกับตัวเองจริงๆ
คือเศร้านะ มีคนรอบข้างบางคนที่ให้กำลังใจเรา แต่บางคนก็ไม่เลย เขาพูดดูถูกประมาณว่า ทำไมถึงทำไม่ได้ล่ะ ขึ้นชื่อว่าใบเฟิร์นก็ต้องทำให้ได้สิ บางครั้งเราก็อยากรู้เหมือนกันนะ ถ้าเขาเป็นเรา เขาจะรู้สึกแบบนี้ไหม
แล้วครอบครัวล่ะ เขามองยังไงกับเรื่องนี้
มันเป็นความรู้สึกที่เขาผิดหวัง เพราะเราชนะมาตลอด เขาปลูกฝังให้เราห้ามแพ้มาโดยตลอด เราถูกฝังชิปในหัวมาเสมอๆ ว่าห้ามแพ้นะ แพ้ไม่ได้ พอเราแพ้ เราก็เลยเจ็บ เจ็บไม่พอ เราก็ยังรู้ว่าคนรอบข้างเขาผิดหวังมากๆ ยิ่งเป็นคนที่เราแคร์มากๆ เขาเสียใจ เราก็ยิ่งเสียใจหนักมากๆ ตามไปอีก
ความคาดหวังแบบนั้น ส่งผลกระทบต่อเราในแง่ไหน
ความคาดหวังมันคือสิ่งที่คนรอบข้างต้องการให้เราเป็น ด้วยความที่เราเป็นคนที่ไม่ค่อนชัดเจนกับสิ่งที่ตัวเองทำ พอมีคนมาคาดหวังอะไรในตัวเรา เราก็จะทำตามสิ่งที่เขาคาดหวังไว้เสมอ ถามว่าอยากทำไหม บางครั้งก็ไม่นะ แต่เราทำเพื่อให้เขาไม่ผิดหวัง เพื่อให้เขาภูมิใจในตัวเราให้ได้ แต่พอครั้งไหนที่เราทำออกมาได้ไม่ดี เราก็จะถูกตำหนิ
แล้วคำว่าความหวังดีมันทำร้ายเรายังไงบ้าง
คนรอบข้างบอกว่ามันคือความหวังดีทั้งที่มันคือสิ่งที่เขากดดันตัวเราอยู่ เขาบอกว่าไม่ได้กดดันนะ แค่หวังดี แต่คำพูดนั่นแหละคือสิ่งที่กดดันเราอยู่ ถามว่าเรารู้สึกอะไรไหม เราต้องกดดันตัวเองกว่าเขาร้อยเท่า เหมือนเราต้องเก็บความรู้สึกนั้นอยู่คนเดียว
หลังจากเหตุการณ์การนั้น คิดว่าตัวเองเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
เปลี่ยนไปเยอะมาก เราไม่เก็บคำพูดที่ไร้สาระมาฟัง เราไม่เลือกฟังคำพูดที่มาดูถูกมาเปรียบเทียบ เราเลือกที่จะทำบางอย่างและไม่ทำบางอย่างด้วยตัวเอง เราได้เรียนรู้ว่า คนเราไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบตลอดเวลา มันพลาดกันได้ เมื่อพลาดก็ลุกขึ้นมาสู้ใหม่แค่นั้นเอง
เหมือนทำให้ใบเฟิร์นปลดล็อกตัวเองได้
มันคือเรื่องโชคดีนะ การได้เกรดที่ตกลงมาทำให้เราเป็นตัวของตัวเอง คือใบเฟิร์นที่ชนะก็ได้แพ้ก็ได้ การแพ้มันคือประสบการณ์สำหรับชีวิตเรา เราได้บทเรียนเยอะ ไม่ว่าเราจะแพ้เราก็สามารถลุกขึ้นใหม่ได้
ถ้ามองในมุมของผู้ใหญ่ เขาอาจจะคิดว่าสิ่งที่เขาบอกเรามันคือความหวังดีนะ ที่อยากให้เราทำสิ่งต่างๆ ได้ดีๆ
เอาจริงๆ เราเข้าใจนะ เราก็เลยทำให้เขาเห็นว่าทำได้ เราเข้าใจผู้ใหญ่ว่าบางทีที่เขาคาดหวังในตัวเรา เพราะเขาอยากให้เราทำได้ อยากให้เราทำสิ่งต่างๆ ให้ออกมาได้ดี ตัวเราเองเข้าใจ เราเลือกที่จะทำตามที่เขาบอกทุกอย่าง แต่เราก็อยากให้เขาเข้าใจบ้างว่า มันทำให้เราขาดความเป็นตัวเองไปเลย เราไม่ได้เลือกในสิ่งที่ตัวเองรักเหมือนกัน อยากให้ผู้ใหญ่เข้าใจว่า เวลาคาดหวังกับเราแล้ว เราอยากทำจริงๆ รึเปล่า ไม่ใช่คาดหวังแล้วเราทำไม่ดีก็มาด่าเรา มันไม่ถูกต้อง
คิดว่าทางออกในเรื่องนี้คืออะไร
อยากให้ทุกคนยอมรับมากกว่า ไม่อยากให้มามองว่าเราเป็นคนที่ Perfect ตัวเราเองก็มีข้อผิดพลาด ไม่มีใครรู้ว่าเราผ่านอะไรมาบ้าง แต่ทุกคนมองเราว่า Perfect หมดเลย ทั้งที่จริงๆ แล้วชีวิตเราก็ไม่ได้เติบโตมาด้วยความ Perfect
แล้วทางที่ดีควรจะใช้ความหวังดีกันยังไงให้ไม่ทำร้ายกัน
ไม่ว่าจะพูดอะไรก็ตาม ถ้าจะอ้างความหวังดีกัน มันต้องเป็นความหวังดีจากใจจริงๆ ของคุณ ความหวังดีมันควรจะเป็นกำลังใจที่ให้เขามากกว่า
มีประโยคนึงที่ใบเฟิร์นพูดบนเวทีเมื่อกี้ว่า สิ่งที่เด็กต้องการจริงๆ มันไม่ใช่คำพูดที่กดดันแล้วบอกว่าหวังดี
ใข่ สิ่งที่เด็กต้องการคือการที่เปิดใจ เพื่อให้เด็กได้เลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง เปิดใจในที่นี้หมายถึงเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็นและสิ่งที่เขารัก ไม่ว่าเขาจะเป็นอะไรก็ตาม เราเข้าใจว่ามันยากเพราะสังคมเรามันเป็นแบบนี้มาตั้งแต่แรก แต่เราเลือกที่จะยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นได้เหมือนกันนะ
การยอมรับเด็กมันส่งผลต่อเด็กยังไงบ้าง
มันเปิดโอกาสให้เด็กได้เป็นตัวของตัวเองมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมดนะ เรื่องบางเรื่องถ้าเด็กทำผิดจริงๆ เช่น ถ้าเด็กคนนั้นติดเกมมากเกินไป อันนั้นก็เตือนกันได้ แต่ถ้าเขาแบ่งเวลาได้ เขาเลือกแล้วว่าอยากจะเดินในเส้นทางนี้ ผู้ใหญ่ก็ต้องปล่อยให้เด็กได้มีอิสระในการเลือกบ้าง แบบนี้น่าจะดีกว่า
ตอนนี้ใบเฟิร์นอยู่ชั้น ม.2 แล้ว เริ่มเจอตัวเองรึยังว่าชอบอะไร หรืออยากเป็นอะไรในอนาคต
เราเริ่มค้นหาและเริ่มเจอบ้างนิดหน่อยแล้ว ตอนแรกเราคิดว่า การเป็นหมอมันก็คือการทำตามความคาดหวังจากผู้ใหญ่ แต่พอได้ไปเข้าค่ายแพทย์ มันก็ทำให้เราค้นเจอว่านี่อาจจะเป็นความฝันของเราจริงๆ ก็ได้
หมายถึงว่าเจอเพราะเราได้ไปลองทำลองค้นหาด้วยตัวเอง
ใช่ พอเราลองทำ เราจะรู้ว่าสิ่งนี้มันใช่หรือไม่ใช่สำหรับเรา มีช่วงหนึ่งที่ไปลองเต้นโคฟเวอร์ดู แต่ลองแล้วไม่ชอบ เราก็ปล่อยมันไป
แล้วคิดว่าอะไรน่าจะเป็นกำแพงสำคัญทำให้เด็กๆ รุ่นใหม่ไม่สามารถค้นหาตัวเองเจอได้
ในยุคที่เราเจอมากับตัว คือจากประสบการณ์ส่วนตัวเลยนะคะ กำแพงที่ใหญ่มากๆ ที่ต้องก้าวข้ามให้ได้ คือการมัวแต่สนใจคำพูดที่ไม่จำเป็นจากคนอื่น เพราะคำพูดคนอื่นมักจะทำร้ายจิตใจกันตลอดเวลา เช่น เธอจะทำได้เหรอ เธอทำไม่ได้หรอก ความรู้มีแค่นี้จะทำได้ยังไง แต่ถ้าเราไม่ได้ลองทำ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเราทำได้หรือไม่ได้
แปลว่าเราเคยอยู่ในจุดนั้นมาก่อน
ใช่ มันเกิดขึ้นเพราะคนรอบข้างมักมองเราว่า เราเป็นเด็กที่ดีไปหมดทุกอย่าง บางคนเห็นเราเก่งภาษาจีน ก็ควรเรียนต่อสายศิลป์จีนไปเลย แต่ใจของเราจริงๆ ขอบสายวิทย์-คณิตมากกว่า
แต่บางคนก็มาบอกว่า ถ้าเรียนวิทย์-คณิต ก็เป็นได้แค่หมอนะ เป็นอย่างอื่นไม่ได้หรอก เรารู้สึกว่า คุณจะมาวางกรอบให้เราแบบนั้นไม่ได้นะ อนาคตของเรา เราก็ควรจะได้กำหนดด้วยตัวเองสิ
อีกเรื่องที่ใบเฟิร์นพูดบนเวทีคือเรื่อง Toxic Expectation อยากให้อธิบายเพิ่มเติมอีกนิด
Expectation มันแปลว่าความคาดหวัง ซึ่งหลายคนอาจมองมันในแง่บวกใช่ไหมคะ แต่สำหรับตัวเราเอง เมื่อผ่านคำพูดหลายๆ คนมา ความคาดหวังมันกลายเป็นในแง่ลบไปเลย มันทำร้ายเรามากๆ
มันเลยเป็นคำพูดที่เราไม่ไปไหน
เหมือนเราจะต้องหนีตลอดเวลา เมื่อก่อนเวลามีคนมาด่าเรา เราก็จะคิดว่า เดี๋ยวก็จะทำให้ดูว่าเราทำได้ พอเราทำได้เราก็จะชนะ แต่ตอนนี้เราไม่ฟังแล้ว ก็เอาที่เขาสบายใจแล้วกัน
ตอนนี้ในโรงเรียนของใบเฟิร์มมีแข่งขันกันสูงไหม
สูงค่ะ ยิ่งเราอยู่ในห้องคิง แล้วหลายคนมีเป้าหมายที่จะไปเรียนต่อที่เดียวกันหมดเลย แทบจะที่เดียวกันยกห้อง
คิดว่าตอนนี้ระบบการศึกษามันมีปัญหาตรงไหนบ้าง
เราไม่โอเคกับระบบการศึกษาไทย มันทำให้เด็กอยู่ในกรอบมากเกินไป มันอยู่ในกรอบที่เรียนแต่วิชาการ 6-8 ชั่วโมง แต่วิชาชีวิตไม่มีเลย ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว เราโตไปจะใช้ชีวิตกันยังไง
การแข่งขันในระบบการศึกษาตอนนี้ มันทำให้ทุกคนต่างทำร้ายกันเอง มันเหมือนกับเราสวมชุดเกราะเพื่อไปลงสนามรบ แล้วก็ต้องแข่งขันกันเองตลอดเวลา ทั้งที่เราอาจจะเป็นทั้งเพื่อนกันที่ไปสอบด้วยกัน หรือแข่งกับคนที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อนด้วย
ถ้าจะเปลี่ยนอะไรได้ในระบบการศึกษา
อยากให้เปลี่ยนระบบการศึกษาที่เน้นแต่หลักสูตรเพื่อวิชาการเพียงอย่างเดียว อยากให้ผู้ใหญ่คำนึงว่า เมื่อพวกเราโตไป พวกเราต้องใช้วิชาชีวิตและการแก้ไขปัญหาด้วย ถ้าโตไปโดยที่ไม่รู้เรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเลยก็คงไม่ดี
คิดภาพตัวเองตอนเป็นผู้ใหญ่ไว้ยังไงบ้าง
อยากเป็นผู้ใหญ่ที่รับฟังเด็กมากๆ เข้าใจความรู้สึกเด็ก
และเปิดใจรับฟัง โดยไม่ใช้ความคิดของตัวเองเป็นหลักเพื่อตัดสินอนาคตของเด็ก