ไม่ได้มีแต่บ้านเราที่ ‘อาการคลั่งผิวขาว’ กำลังระบาด มีรายงานว่าทั่วทั้งทวีปเอเชีย คนเอเชียกำลัง ‘คลั่งขาว’ คือเราให้ค่าและจัดวางตัดสินผู้คนจาก ‘สีผิว’ มีการสร้างค่านิยมว่าผิวยิ่งขาวยิ่งสวย ยิ่งมีสถานะทางสังคมสูง ในอินเดียเองด้วยการเหยียดสีผิวและการคลั่งขาวที่ค่อนข้างหนัก อินเดียจึงเกิดโครงการ ‘เข้มก็สวย’ โครงการที่พยายามสู้กลับกับความเชื่อและการเหยียดคนจากสีผิว
ประเด็นเรื่องผิวสวย ชีวิตก็สมบูรณ์แบบ เป็นสิ่งที่ธุรกิจเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ความงามยักษ์ใหญ่ทั้งหลายร่วมกันสร้างค่านิยมขึ้น ผิวสวยสมบูรณ์แบบมักหมายถึงแค่ผิวที่ขาวใส เป็นการกระจายความเชื่อและความหมกมุ่นความขาวเพื่อขายสินค้าทั้งผลิตภัณฑ์ฟอกผิวขาว การลอกผิว ทำเลเซอร์ ฉีดสารบำรุง และอาหารเสริม ที่ทั้งหมดต่างมีคำว่า whitening เป็นเป้าหมายสำคัญ ซึ่งผลก็คือค่านิยมเรื่องคลั่งขาวนี้กำลังส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพของคนอยากขาว ไปจนถึงเกิดเป็นอาการหมกมุ่นทางวัฒนธรรมที่กระทบต่อความคิดความเชื่อและเกิดแบ่งแยกตัดสินผู้คนจากความขาว/ไม่ขาว
ตลาดเครื่องสำอางเพื่อผิวขาวกำลังเติบโตและทำกำไรอย่างงาม มีรายงานการว่าภายในสามปีตลาดเครื่องสำอางเพื่อผิวขาวระดับโลกจะมีมูลค่าทวีขึ้นสามเท่าคืออยู่ประมาณ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ Global Industry Analysts รายงานว่าการกระตุ้นตลาดเพื่อความขาวนี้มีการเผยแพร่อคติต่อผิวสีเข้มและความเชื่อที่โยงผิวขาวเข้ากับความงามและความสำเร็จส่วนบุคคลเป็นตัวขับเคลื่อน–ฟังแล้วคุ้นๆ ประมาณว่าขาวคือสวย ความขาวสาดส่องให้ชีวิตรุ่งเรือง การงานและชีวิตรักประสบความสำเร็จ
ผลตอบรับจากการกระจายค่านิยมคลั่งขาว มีงานสำรวจที่ไปสอบถามผู้หญิงเอเชียทั้งจากฮ่องกง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ พบว่าผู้หญิง 4 ใน 10 คน บอกว่าตัวเองกำลังใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อผิวขาวอยู่ มองกลับมาที่บ้านเรา ไทยเองก็มีปรากฏการณ์คลั่งขาวที่อยากจะขาวไปแทบทุกสัดส่วนของร่างกายตั้งแต่รักแร้เรื่อยไปจนถึงจุดซ่อนเร้น เราอยากขาวเสียจนยอมเอาสุขภาพตัวเองเข้าแลก แลกกับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตราฐานและมีฤทธิ์กัดทำลายผิว
ที่อินเดียเองก็ประสบปัญหาเรื่องค่านิยมเช่นเดียว-และอาจหนักกว่าเรา-Sunil Bhatia ศาสตราจารย์ทางการพัฒนาบุคลากรมนุษย์จาก Connecticut College บอกว่าในอินเดียประเด็นเรื่องสีผิวไม่ได้เป็นแค่เรื่องอคติ แต่คือการเหยียดผิวที่ส่งผลต่อสมาชิกและวัยรุ่นในสังคมอย่างรุนแรง (racism) ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการเหยียดชาติพันธุ์และการคัดแยกคนในสังคมโดยมีสีผิวเป็นเกณฑ์ ในสังคมอินเดียที่เป็นสังคมที่มีชนชั้น ผิวยิ่งเข้มยิ่งถูกจัดให้เป็นชนชั้นที่ต่ำกว่า
นอกจากรากฐานทางวัฒนธรรมฮินดูที่จัดแบ่งคนออกด้วยระบบชนชั้นแล้ว การให้ความสำคัญกับคนขาวยังเกิดจากผลกระทบของการล่าอาณานิคมด้วย เราอาจะเข้าใจว่า อ๋อ นี่ไงอินเดียเคยตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษเลยได้รับผลกระทบจากการล่าอาณานิคม แต่จริงๆ แล้วกระบวนการล่าอาณานิคมเป็นการเผยแพร่ความคิดและค่านิยมที่มีการกดเหยียดและมีลำดับชั้นแฝงอยู่ในนั้น คนขาว-ผู้ปกครองเป็นคนที่ดีกว่า สูงส่งกว่า มีศีลธรรมกว่า ในโลกสมัยใหม่ก็คือความเชื่อที่ว่าคนรวยอยู่ในร่มผิวเลยขาว ส่วนคนจนทำงานหนักก็ตัวดำเพราะกรำงานไป
ตั้งแต่ปี 2009 อินเดียเองเริ่มตระหนักว่า เฮ้ย การเผยแพร่อคติและความคลั่งขาวนี่มันไม่โอเคแล้ว จึงมีการผลักดันโครงการชื่อ Dark Is Beautiful campaign คือบอกว่าผิวเข้มก็คือความงามรูปแบบหนึ่ง สิ่งที่โครงการทำคือพยายามให้ความรู้และสลายอคติจากการที่สื่อกำลังนำเสนออคติจากสีผิวต่างๆ ผู้นำโครงการบอกว่าอคติที่ว่านี้ไม่ได้เกิดแค่จากสื่อสารมวลชนเท่านั้น แต่ยังฝังลึกและปรากฏกระทั่งในหนังสือเรียน เช่น การให้ภาพเด็กหญิงผิวขาวและแปะป้ายว่าสวย ในขณะที่เด็กหญิงผิวดำถูกให้อธิบายว่าอัปลักษณ์ สิ่งที่โครงการนี้ทำคือคือการพยายามนิยาม ‘ความงาม’ ใหม่ โดยรวมเอาสีผิวทุกสีเข้าไปให้เป็นความหมายของความงามที่มีหลายเฉดมากขึ้น
ฟังดูแล้วอาจจะไม่ใช่แค่อินเดีย การเหยียดคนจากสีผิว และการพยายามพูดถึงความงามที่คับแคบ-สวยคือขาว อาจจะเป็นปัญหาที่เราเองก็กำลังเผชิญและกำลังผลิตซ้ำอคติเหล่านี้อยู่ อคติที่กำลังส่งผลกระทบต่อคน ต่อเด็กๆ และต่อวัยรุ่นจริงๆ
สำหรับบ้านเราแล้วดูเหมือนว่าอาจจะกำลังมีแนวโน้มเรื่องความงามที่กว้างขวางและหลากหลายมากขึ้น เช่น ที่เราเริ่มเห็นสาวผิวเข้ม และสาวๆ ที่ไม่ใช่ขาวเท่านั้นที่เป็นตัวแทนของความสวยและความมั่นใจ สาวผิวเข้มเช่นเกรซจากเดอะเฟสและเมญ่าจากเวทีมิสไทยแลนด์เวิลด์ก็เป็นตัวแทนของหญิงสาวที่สวยได้ โดยที่ไม่ต้องขาว
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.pri.org/stories/2009-11-25/why-white-skin-all-rage-asia
http://business.inquirer.net/215898/yes-asia-is-obsessed-with-white-skin