อารมณ์มนุษย์เปรียบดั่งของเหลว บ้างไหลเอื่อยแช่มช้าลงไปเล่นให้ชื่นใจ บ้างก็เชี่ยวกรากเหมือนน้ำป่าไหลหลากพัดพาเอาทุกสิ่งไป เราทุกคนล้วนมีสายน้ำอันแปรปรวนนี้ไหลผ่านอารมณ์ แต่สำหรับหลายคนการเปลี่ยนแปลงอาจ ‘รวดเร็วจนเกินไป’
มีผู้คนใกล้ตัวคุณกำลังต่อสู้กับภาวะ ‘อารมณ์แปรปรวน’ (Mood disorder) อย่างเดียวดาย พวกเขาถูกมองเป็นพวกอารมณ์ร้าย น่าหวาดกลัวที่จะข้องแวะหรือทำธุระด้วย ทำให้ผู้คนหลีกเลี่ยงที่จะสร้างสัมพันธ์ กับคนเหล่านี้ บ่อยครั้งบานปลายพัฒนาเป็นอคติที่ตอกตรึงพวกเขาไว้อย่างน่าเสียดาย หลายคนเชื่อมายาคติ (myths) ของภาวะอารมณ์แปรปรวนจากคำบอกเล่าที่เกินเลยความเป็นจริง บิดเบือน เป็นความเชื่อที่อยู่บนฐานของความหวาดกลัว และขาดการให้ความรู้ที่เหมาะสม
ยิ่งความเชื่อชุดนี้ถูกแพร่กระจายเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการอัปเปหิมนุษย์ออกจากสังคม และซ้ำเติมปัญหาให้เรื้อรังกว่าเดิม
จึงจำเป็นที่คุณจะต้องตั้งคำถามว่า ‘มายาคติ’ เหล่านี้เท็จจริงประการใด ต่อการนิยาม ‘อารมณ์แปรปรวน’
‘อารมณ์แปรปรวน’ ติดต่อได้?
ถ้าอารมณ์แปรปรวนเป็น ‘โรค’ มีโอกาสติดต่อ (contagious) ได้ไหมนะ? ภาวะอารมณ์แปรปรวนเป็นความเจ็บป่วยที่เกิดจากร่างกายและจิตใจควบคู่กัน ไม่สามารถส่งผ่านทางอากาศหรือของเหลวไปติดคนนู้นคนนี้ได้เมื่อคุณใช้ชีวิตร่วมกับคนที่มีภาวะนี้
ในทางทฤษฏีแล้วภาวะอารมณ์แปรปรวนเกี่ยวข้องกับการแสดงออกของยีนและสภาพแวดล้อม ซึ่งยีนเป็นตัวควบคุมฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ ในสมองและร่างกาย ส่วนปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมนั้น รวมไปถึงความสัมพันธ์ของผู้คน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว ทั้งเชิงบวกและลบ และเมื่ออยู่ภายใต้ภาวะความกดดันจากภายนอกมากๆ อาทิ ความเครียด สถานภาพการเงิน ตกงาน หย่าร้าง หรือจากความรู้สึกวิตกกังวลภายใน เช่น กำลังจะมีลูก เจ็บป่วยร่างกาย ประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญ
ความเครียดและอาการเจ็บป่วยเหล่านี้มีอิทธิพลต่อยีน ยิ่งสภาวะที่เผชิญมีความยาวนาน ยีนที่ควบคุมสมองก็เริ่มทำงานบกพร่อง ปรับตัวช้าเสียสมดุล นำมาสู่อาการเจ็บป่วยทางจิตอื่นๆ อีก
ดังนั้นหากคุณเข้าข่ายภาวะอารมณ์แปรปรวน คุณต้องมีปัจจัยด้านยีนที่แสดงออก รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่บีบเค้นจนพัฒนาเป็นอาการป่วย ไม่ได้ติดง่ายเหมือนหวัดหรอก
ผู้หญิงเท่านั้นที่อารมณ์แปรปรวน
มีแต่ผู้หญิงเท่านั้นแหละที่มีภาวะอารมณ์แปรปรวน ผิดเต็มประตู! ผู้ชายก็มีโอกาสเผชิญภาวะนี้เช่นกัน เพียงแต่ในเชิงสถิติแล้ว เราไม่ค่อยได้ยินผู้ชายพูดถึงสภาวะทางอารมณ์ของตัวเองให้กับคนอื่นฟังเสียเท่าไหร่ และที่แน่นอนกว่า คือเมื่อบอกเล่าให้ใครฟังไปแล้ว ผู้ชายกลับรู้สึกกลัวถูกตีตรา (Stigmatize) ว่าเป็นคนอ่อนแอ บอบบาง อ่อนไหวต่อความรู้สึก
แต่ระยะหลังเมื่อแนวคิดเรื่องสุขภาวะเบ่งบานขึ้น งานวิจัยพบว่า ผู้ชายเองก็มีภาวะอารมณ์แปรปรวนใกล้เคียงกับผู้หญิง และจากงานวิจัยในปี 2013 โดยมหาวิทยาลัย University of Michigan พบว่ามีหลายกรณีที่ผู้ชายบิดเบือนอาการของตัวเอง โดยหันเหไปใช้สารเสพติด ติดสุราเรื้อรัง ติดการพนัน ใช้ความรุนแรง หรือกลายเป็นคนบ้างาน (workaholic) ไปเลย เพื่อพยายามกลบเกลื่อนความไม่สบายทางจิตใจ
แน่นอน ผู้ชายอ่อนไหวต่ออารมณ์ได้เช่นกัน มันจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมากที่ผู้ชายจะหันมาสำรวจตัวเองและขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพเพื่อหาทางเยียวยาอย่างเหมาะสม
ถ้าพ่อแม่มีอารมณ์แปรปรวน ลูกก็มีสิทธิ์เป็น
อารมณ์แปรปรวนเป็นมรดกตกทอดที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นหรือไม่? เพราะเห็นบอกว่า ส่วนหนึ่งถูกควบคุมโดยอิทธิพลของยีน ซึ่งยีนและพันธุกรรมก็ต้องส่งผ่านจากครอบครัวได้
แต่ในกรณีภาวะอารมณ์แปรปรวนนั้น ‘ไม่จำเป็นเสมอไป’ ที่จะต้องดำเนินตามแพทเทิรน์นี้ทั้งหมด หลายคนอาจได้รับมาจากพ่อแม่ แต่หลายคนก็ไม่มีหลักฐานว่าพ่อแม่มีภาวะแปรปรวนใดๆ เลย ดังนั้นแทบจะไม่มีอะไรมาการันตีความแน่นอนนี้ได้
การวินิจฉัยทางคลินิกจึงไม่ได้นำผลของการตรวจยีนมาพิจารณาเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปยังปัจจัยสภาพแวดล้อมที่คุณใช้ชีวิต ความเครียดเรื้อรังที่สะสม การประสบพบเหตุการณ์ที่นำความไม่สบายใจมาให้บ่อยครั้งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต
รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิตพื้นฐานง่ายๆ ที่คุณเลือกทำ ตั้งแต่การกิน การนอนหลับ ความถี่ในการออกกำลังกาย รสนิยมและคุณภาพในการเข้าสังคม ซึ่งของใกล้ตัวที่คุณหลงลืมไป อาจมีอิทธิพลมากกว่ายีนเสียอีก
ยิ่งพูดถึงมันมากเท่าไหร่ อาการยิ่งหนัก
ไม่ค่อยมีใครกล้าหยิบปัญหาของตัวเองมาพูด จึงเลือกเตะมันไว้ใต้พรม แต่ตรงกันข้าม! หลายคนที่มีภาวะอารมณ์แปรปรวนเมื่อได้พูดถึงสิ่งที่ตัวเองเผชิญอย่างเปิดอก ยิ่งรู้สึกมีความมั่นใจว่าควบคุมมันได้มากขึ้น เพราะเมื่อเราเก็บทุกอย่างไว้ ภายในก็จะพัฒนาเกราะกำบังให้ตัวเองจนหนาจนยากที่จะคลายออกจากการเห็นปัญหาของตัวเองในมุมเดิมๆ
การมี ‘กำลังเสริม’ จากคนที่พยายามเข้าใจภาวะของคุณเป็นสิ่งที่งดงาม ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือเพื่อนร่วมงานในการช่วยให้คุณผ่านการใช้ชีวิตระดับพื้นฐานในแต่ละวัน ขณะเดียวกันคุณจำเป็นต้องมีมืออาชีพ อย่างจิตแพทย์ หรือนักบำบัดที่มีความสามารถเฉพาะในการพัฒนาภาวะคุณให้ออกไปในทางเชิงบวกมากขึ้น
บุคลากรเหล่านี้จะไม่ตัดสินคุณด้วยอคติ พวกเขาถูกปลูกฝังให้เยียวยาคุณด้วยความเห็นอกเห็นใจเป็นสำคัญ สามารถมองเห็นจุดบอดที่คุณละเลยไปตลอด การเข้ารับการบำบัดและเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมช่วยให้คุณเข้าใจกลไกของอารมณ์ที่ผันแปรได้ดีขึ้น ควบคุมการตัดสินใจ จัดการกับความเครียดอย่างสร้างสรรค์ และสร้างจุดเชื่อมทางอารมณ์ (Mood transition) ที่นุ่มนวลมากขึ้น
ยารักษาอาการซึมเศร้า เป็นสิ่งเดียวที่ฉันต้องการ
การบำบัดด้วยยาเป็น ‘วิธีหนึ่ง’ ในกระบวนการรักษาเท่านั้น ผู้ป่วยบางรายสามารถรับยาเพียงอย่างเดียวแล้วอาการดีขึ้นตามลำดับ แต่บางคนมีปัจจัยที่ซับซ้อนกว่านั้น ต้องให้ยาร่วมกับการสนับสนุนทางจิตใจที่เหมาะสมในกรณีที่อยู่ในช่วงวิกฤตของชีวิต จากงานวิจัยที่ศึกษาภาวะอารมณ์แปรปรวนโดยเฉพาะ พบว่ากระบวนการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการให้ยาร่วมกับการพูดคุยบำบัด
อย่ากังวลมากจนเกินไป เราแค่ต้องรู้ Side Effect ของยาแต่ละตัว เพื่อที่เมื่อเจอความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ เราจะได้ไม่ตื่นตระหยก ไม่มีแพทย์คนไหนที่อยากให้คนไข้ของตัวเองแย่ลง และที่สำคัญต้องไปพบแพทย์ตามเวลานัดหมายสม่ำเสมอ
คนที่มีอารมณ์แปรปรวน จะบกพร่องความรับผิดชอบ
เรามักคิดว่าคนเหล่านี้ไม่ควรทำงานที่ต้องรับผิดชอบสูง ไม่ควรติดต่อสื่อสารกับผู้คน หรือตัดสินใจอะไรให้กับผู้อื่นได้ แต่ในความเป็นจริง ภาวะแปรปรวนทางอารมณ์ไม่มีผลต่อการรับผิดชอบของมนุษย์ ซึ่งในสังคมนี้มีคนมากมายที่เผชิญกับภาวะนี้ แต่ก็ยังสามารถประกอบอาชีพที่มีความรับผิดชอบสูง อย่างนักวิชาการ ทนาย แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และอาชีพอื่นๆ อีกมากมายได้
อาการป่วยทางอารมณ์อาจทำให้งานของคุณมีช่วงเวลาที่ท้าทายขึ้น แต่ไม่ได้จำกัดศักยภาพของคุณเลย คำสบประมาทเหล่านั้นพยายาม Discredit คุณมากกว่า ผู้คนที่มีภาวะอารมณ์แปรปรวนสามารถมีชีวิตที่มั่นคงและประสบความสำเร็จเฉกเช่นคนอื่น
อ้างอิงข้อมูลจาก
Talking about depression – stigma is caused by misunderstanding
Mood Disorders
Overview of Mood Disorders