ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ขึ้นชื่ออยู่แล้วในเรื่องปัญหาอัตราการเกิดที่ต่ำ และมีจำนวนผู้สูงอายุจำนวนมาก แต่เมื่อมามองในจังหวัดในแถบชนบท ที่ไม่ใช่เมืองหลวงกลับพบว่าประเด็นนี้เป็นปัญหามากกว่าที่คิด ทั้งอาจทำให้ในอนาคต ทั้งเมืองมีแต่ผู้สูงอายุก็เป็นได้
จังหวัดอาคิตะ ภูมิภาคโทโฮกุ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น กำลังเผชิญปัญหาที่ในอนาคตอาจจะไม่เหลือคนอาศัยอยู่ในเมือง เพราะตอนนี้จำนวนประชากร 1 ส่วน 3 คือผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี แต่จำนวนเด็กๆ หรือนักเรียนมีเพยงไม่กี่คน และในปี 2017 ที่ผ่านมายังเป็นจังหวัดที่มีอัตราการตายสูงที่สุดในประเทศคือ 15.5 คน ในประชากร 1,000 คน ในขณะที่อัตราการเกิดต่ำที่สุด คือ 5.4 คนใน 1,000 คน ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าในปี 2045 ประชากรในจังหวัดจะลดลงถึง 41% โดยประชากรครึ่งหนึ่ง หรือ 600,000 คน เป็นผู้อายุมากกว่า 65 ปี
Koji Otomo อายุ 87 ปี ครูผู้เกษียณ และหัวหน้าทีมเบสบอล Shimohama ที่ทั้งทีมมีแต่ผู้สูงวัย กล่าวว่ามันเป็นเรื่องที่น่ากลัว “ด้วยจำนวนประชากรที่ลดลงอย่างไม่หยุดหย่อน และรวดเร็วนี้ มันไม่มีทางเลยที่จะจินตนาการหรือมองเห็นภาพของอนาคต” ทั้ง Norihisa Satake นายกเทศมนตรีของจังหวัดให้สัมภาษณ์ว่า “การบริหารพื้นที่ที่ประชากรขาดแคลนเป็นเรื่องที่ใช้ค่าใช้จ่ายมาก และเป็นเรื่องยากมากที่จะรักษาชุมชนไว้”
ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนผู้สูงอายุ แต่เมืองกลับขาดแรงงานที่จะดูแลคนเหล่านี้ โดยปีที่ผ่านมาได้มีการปิดศูนย์ดูแลไปถึง 3 แห่ง เนื่องจากขาดคลานพนักงาน แม้ว่าในปี 2015 จังหวัดพยายามวางแผนเพื่อหยุดยั้งการลดลงของประชากร ด้วยการเพิ่มเงินอุดหนุนทางการแพทย์สำหรับเด็กนักเรียน ให้การสนับสนุนการดูแลวันพิเศษและช่วยให้พนักงานจ่ายเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่ก็ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงมากนัก
เมืองที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุ และขาดแคลนคนหนุ่มสาว กระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของสถานที่ และโครงสร้างของจังหวัดโดยตรง ที่แม้แต่ตามช็อปปิ้งมอลล์ จะมีป้ายเชิญชวนว่า ‘ออกมาช็อปปิ้งตอนดึกกันเถอะ’ แต่ในความเป็นจริงห้างเหล่านี้กลับปิดตั้งแต่ 1 ทุ่มครึ่ง และเพราะมีจำนวนงานศพที่จัดถี่ขึ้น ทำให้ตึกเก่าๆ หรือตึกที่กำลังก่อสร้าง ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นห้องจัดงานศพมากขึ้น รวมถึง 1 ใน 3 ของบริษัทในจังหวัดที่อนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานต่อไป แม้จะอายุเกิน 70 ปี ทั้งเมื่อคนลดลงประชากรหมีก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้นด้วย
ไม่เพียงกระทบต่อเมืองในชนบทเท่านั้น แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลต่อเมืองหลวงอย่าง โตเกียวด้วย Jun Numaya หัวหน้าสถานดูแลผู้สูงวัยให้ความเห็นว่า “เด็กๆ ที่เกิด และโตในชนบท ย้ายไปอยู่ในโตเกียว สร้างผลผลิต ใช้เงิน ทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังสงคราม ที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นโต แต่ชนบทก็สญเสียความสามารถในการให้กำเนิดทารก และเลี้ยงดู และส่งพวกเขาไปโตเกียว เพราะอัตราการเกิดตกต่ำ” ดังนั้นการที่ชนบทขาดกระบวนการนี้ การทำงานในโตเกียวก็จะหยุดชะงักด้วย
อ้างอิงจาก
https://japantoday.com/category/national/Akita-Prefecture-may-be-glimpse-of-Japan’s-graying-future
#Brief #TheMATTER