ไม่ว่าสินค้าในตลาดจะดีเลิศขนาดไหน แต่สุดท้ายคนซื้อก็หวั่นไหวกับของถูกอยู่ดี สิ่งนี้เป็นสัจธรรมที่ผู้ผลิตสินค้าส่วนใหญ่ต้องเจอ การปรับราคาสินค้าแต่ละที จึงต้องคิดแล้วคิดอีก ว่าจะขึ้นดีหรือไม่ขึ้นดี หรือถ้าตัดสินใจขึ้นราคาแล้ว จะทำยังไงถึงสามารถตีเนียน ไม่ถูกผู้บริโภคจับได้
ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคบางยี่ห้อในประเทศไทย เช่น กลุ่มแชมพู สบู่เหลว น้ำยาซักผ้า ยาสีฟัน ฯลฯ ได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอ ‘ออกสินค้าใหม่’ ด้วยการลดปริมาณหรือขนาดสินค้าลง แต่ยังขายในราคาเดิม โดยให้เหตุผลว่าสินค้ามีคุณภาพดีขึ้น
แต่รอบนี้ กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้อนุมัติตามที่ผู้ผลิตร้องขอ เพราะตรวจสอบแล้วว่าสินค้าไม่ได้แตกต่างจากเดิม และที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักใช้วิธีนี้ เพื่อขึ้นราคาแบบเลี่ยงกฎหมาย ต่อไปถ้าผู้ผลิตจะลดขนาดหรือปริมาณลง ก็ต้องลดราคาด้วย เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้บริโภค
แต่กระทรวงพาณิชย์ก็ไม่ได้ปิดกั้นเรื่องการลดขนาดหรือลดปริมาณสินค้า ถ้าผู้ผลิตจำเป็นหรือต้นทุนสูงขึ้นจริง แต่ต้องแจ้งรายละเอียดต้นทุนที่ชัดเจนและสมเหตุสมผลให้พิจารณาก่อน
“ที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักใช้วิธีการนี้ ลดขนาดแล้วอ้างเป็นสินค้าตัวใหม่ สินค้าพรีเมี่ยม แล้วปรับขึ้นราคา หรือคงราคาเดิม แต่ขนาดลดลง ซึ่งตอนนี้ไม่สามารถทำได้แล้ว ถ้าทำจะผิดกฎหมาย” บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าว
การขึ้นราคาขายแบบเนียนๆ มีอีกหลายรูปแบบ เช่น ออกโปรโมชั่นลดราคาสินค้าแบบเดียวกัน แต่คนละเกรด, ออกโปรโมชั่น 1 แถม 1 เพื่อระบายสินค้าใกล้หมดอายุหรือล้าสมัยให้หมดสต็อก, ตั้งราคาขายสูงกว่าปกติ, ใช้บรรจุภัณฑ์ขนาดเท่าเดิม แต่ลดปริมาณสินค้าที่อยู่ข้างในลง ฯลฯ
เราได้เห็นกลยุทธ์ทางการตลาดเหล่านี้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นตอนเศรษฐกิจแย่ ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ผู้ผลิตไม่สามารถขึ้นราคาได้ หรือกระทั่งตอนเศรษฐกิจดี ที่ผู้บริโภคมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น กลยุทธ์เหล่านี้ก็จะถูกงัดมาใช้ เพื่อดึงดูดกำไรให้ผู้ผลิตมากขึ้นอยู่ดี
อ้างอิงจาก
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1034580
https://www.posttoday.com/economy/557020
https://mgronline.com/specialscoop/detail/9570000095861
https://cheechongruay.smartsme.co.th/content/2800
#Brief #TheMATTER