ในปัจจุบัน มีการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ และแหวกแนวมากมาย และล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ในออสเตรเลีย ก็ได้ค้นพบสิ่งที่เรียกว่า ‘สีชีวภาพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก’ ซึ่งค้นพบจากหินโบราณ ที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮารา ในแถบแอฟริกา
นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบเม็ดสีที่มีอายุถึง 1.1 พันล้านปี ซึ่งพบว่ามันมีสีชมพูสว่าง และมีช่วงสีจากสีแดงของเลือดไปจนถึงม่วงแบบเข้มข้น โดยนักวิจัยกล่าวว่าเม็ดสีนี้เป็นโมเลกุลฟอสซิลของคลอโรฟิลล์ที่ผลิตโดยสิ่งมีชีวิตในทะเลโบราณ ซึ่งไม่ใช่โมเลกุลของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ แต่มีขนาดเล็กมากต้องส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพราะมันไม่ได้มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาขณะนั้น
สีนี้ถูกค้นพบโดย Nur Gueneli นักศึกษาปริญญาโท ผู้ซึ่งบดก้อนหินเป็นผง สกัดเม็ดสี และจากนั้นเธอก็แยกและวิเคราะห์โมเลกุลของสิ่งมีชีวิตโบราณจากสารนั้น โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ Jochen Brocks จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ให้สัมภาษณ์ว่าการค้นพบนี้มันมหัศจรรย์มากและเปรียบเทียบการค้นพบเม็ดสีนี้กับการพบกระดูกไดโนเสาร์ทีเร็กซ์ว่า “จินตนาการว่าเราค้นพบฟอสซิลผิวหนังของไดโนเสาร์ และมันยังคงเป็นสีดั้งเดิม คือเขียว หรือฟ้า นี่คือการค้นพบแบบเดียวกับที่เราได้ทำ” ทั้งยังบอกด้วยว่า “มันคือโมเลกุล และมันเป็นโมเลกุลสีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก”
หินที่เก่าแก่นี้ถูกส่งมายังมหาวิทยาลัย ANU เมื่อ 10 ปีก่อน จากบริษัทน้ำมัน ซึ่งเจาะ และขุดหลุมลงไปหาน้ำมันลึกกว่า 100 เมตร ก่อนจะกระทบกับหินนั้น ซึ่งภายหลังพบว่ามันมีอายุมากกว่า 1.1 พันล้านปี
โดยโมเลกุลของสิ่งนั้นเป็น “ไซยาโนแบคทีเรียขนาดเล็กเป็นพื้นฐานของห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทรนับพันล้านปีมาแล้ว มันจึงอธิบายได้ว่าทำไมสัตว์ถึงไม่ได้มีชีวิตอยู่ในเวลานั้น” Brocks กล่าว ทั้งยังบอกอีกว่า “สิ่งมีชีวิตมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อประมาณ 600 ล้านปีก่อน เพราะก่อนหน้านั้นไม่มีแหล่งอาหารที่เพียงพอ” นี่จึงเป็นเหตุผลว่าการค้นพบครั้งนี้ ไม่ใช่การค้นพบสิ่งของเก่าแก่ที่เป็นสีชมพู แต่ยังช่วยแก้ไขปัญหา และให้เข้าใจถึงวิวัฒนาการของชีวิตที่ก่อตัวขึ้นในโลกด้วย
อ้างอิงจาก
https://www.theguardian.com/science/2018/jul/09/scientists-discover-worlds-oldest-colour-bright-pink-sahara
https://www.bbc.com/news/world-australia-44775531?ocid=socialflow_twitter
#Brief #TheMATTER