ไม่ว่าแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าจะเลี้ยวไปทิศไหน นักลงทุนก็จะซื้อที่ดินดักไว้ทุกเส้นทาง เพราะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างรถไฟฟ้า จะทำให้ราคาที่ดินโดยรอบเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว เจ้าของที่ดินก็เหมือนได้ ‘ลาภก้อนโต’ จากสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ลงทุน แต่รัฐบาลและประชาชนที่เป็นคนจ่ายเงินสร้างรถไฟฟ้า กลับไม่ได้ประโยชน์ใดๆ จากราคาที่ดินที่สูงขึ้นเลย
รัฐบาลจึงมีแนวคิดจะสร้างความเป็นธรรม ด้วยการออกกฎหมายเก็บ ‘ภาษีลาภลอย’ จากผู้ได้ผลประโยชน์กลุ่มนี้ โดยกฎหมายฉบับนี้มีชื่อเต็มๆ ว่า พ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. … และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อวานนี้ (10 ก.ค.)
สำหรับคนที่ต้องเสียภาษีประเภทนี้คือ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่ครอบครองที่ดิน ห้องชุด อาคาร มูลค่าตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไปและดำเนินการเชิงพาณิชย์ รวมถึงผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านคมนาคม ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า ท่ารือ ทางด่วน และสนามบิน แต่จะยกเว้นไม่เก็บภาษีสำหรับกลุ่มที่พักอาศัยและเกษตรกรรม
อัตราภาษีจะอยู่ที่ไม่เกิน 5% ของฐานภาษี คิดจากส่วนต่างราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ โดยรัฐบาลเชื่อว่ากฎหมายใหม่นี้จะไม่เป็นภาระแก่ผู้เสียภาษี เพราะเก็บในอัตราไม่มาก และจะนำภาษีตรงนี้ไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม
แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่า กฎหมายจะเริ่มบังคับใช้จริงเมื่อไหร่ อาจจะเป็นปี 2562 เพราะร่างกฎหมายยังต้องผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ไม่สามารถกำหนดเวลาได้แน่นอน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละหน่วยงาน
อ้างอิงจาก
https://www.prachachat.net/property/news-187985
https://www.khaosod.co.th/economics/news_1325286
#Brief #TheMATTER