ปัจจุบัน ‘สารให้ความหวาน’ (sweetener) เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเรามากขึ้น ด้วยความเชื่อและคำโฆษณาที่ว่า ทำให้ผู้บริโภคมีสุขภาพดีกว่าการกิน ‘น้ำตาล’ เป็นไหนๆ แถมยังป้องกันสารพัดโรคได้ด้วยนะ ว่าแต่ความเชื่อและคำโฆษณาดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่?
รายงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ ซึ่งทำโดยทีมวิจัยของยุโรป ที่ประมวลข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับการสารแทนความหวาน 56 ชิ้นก่อนหน้านี้ กับกลุ่มตัวอย่าง 1.4 หมื่นคน เพื่อดูว่าการใช้สารดังกล่าวแทนน้ำตาลจะส่งผลต่อผู้บริโภคอย่างไรบ้าง (นอกเหนือจากมีแคลอรี่น้อยกว่า) ทั้งเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของดัชนีมวลกาย สุขภาพปาก พฤติกรรมการกิน โอกาสในการเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคตับ และอีกหลายๆ ประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพ
ผลออกมาปรากฎว่า “ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าสารให้ความหวานส่งผลดีต่อสุขภาพ” มากมายขนาดนั้น แม้ทีมวิจัยจะยอมรับว่า การทำงานวิจัยชิ้นนี้ยังมีข้อจำกัด และเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมอีกในอนาคต – โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า การใช้สารนี้มากๆ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ทำให้เกิดโรคมะเร็ง หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ผลของงานวิจัยชิ้นนี้ดูเหมือนต้องการจะท้าทาย ‘คำโฆษณา’ ของผู้ขายสารให้ความหวานบางแบรนด์ที่มักบอกว่า บริโภคสารนี้แล้วจะสามารถป้องกันสารพัดโรคได้เสียมากกว่า ..ซึ่งเท่าที่บอกได้ในเวลานี้ก็มีเพียงว่า ‘ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน’ คำโฆษณาเหล่านั้น
ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องบางฝ่ายก็ออกมาระบุว่า แม้ประโยชน์ต่อสุขภาพด้านอื่นๆ จะยังมีคำถาม แต่อย่างน้อยๆ สารให้ความหวานก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถควบคุมน้ำหนักได้ จากการที่มันมีแคลอรีน้อยหรือไม่มีเลย
อ้างอิงจาก
https://www.bmj.com/content/364/bmj.k5005
#Brief #TheMATTER