เคยรู้สึกแบบนี้ไหม เวลาได้เข้าร้านหนังสือทีไร เหมือนชีวิตได้รับการเยียวยาด้วยความพิเศษของบรรยากาศภายใน บางทีแค่ได้เดินไปมา หยิบหนังสือขึ้นมาทดลองอ่าน มันก็ช่วยสร้างความรู้สึกดีแบบบอกไม่ถูกเหมือนกันเนอะ
จริงอยู่ที่ผู้คนในยุคนี้จะมีทางเลือกอ่านหนังสือมากขึ้น ไม่ได้ติดอยู่แค่ร้านหนังสือในโลกที่เป็นกายภาพแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เราเลือกหนังสือได้จากร้านค้าในโลกดิจิทัลกันได้มากขึ้น ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยมียังรักในความเป็นร้านหนังสือจริงๆ อยู่ไม่เสื่อมคลาย
ล่าสุดมีสถิติที่น่าสนใจว่า จำนวน ‘ร้านหนังสืออิสระ’ (Independent bookshop) ในอังกฤษและนับรวมถึงไอร์แลนด์ ได้เพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องกันแล้ว หลังจากที่จำนวนลดลงไปในช่วงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
สถิติพบว่า ปี 2017 เพิ่มขึ้นแค่ 868 ร้าน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียงแค่ 1 ร้าน) ขณะที่ปี 2018 เพิ่มขึ้น 15 ร้าน เป็น 883 ร้าน
คำถามคือเพราะอะไรกันนะ? The Guardian สื่อชื่อดังของอังกฤษ ไปสอบถามความเห็นจากกลุ่มคนทำร้านหนังสืออิสระ พวกเขามองกันว่า เพราะเจ้าของร้านหน้าใหม่ๆ ได้เห็นความสำคัญของร้านหนังสือที่อยู่ในชุมชนมากขึ้น เช่นเดียวกับ ความต้องการของคนรุ่นใหม่ๆ ที่อยากให้มีหนังสือในกลุ่มที่หลากหลาย-เฉพาะกลุ่ม
“พวกเราตัดสินใจเปิดร้านหนังสือ เพราะเชื่อว่าการขายหนังสือมันคือหนึ่งฟังก์ชั่นสำคัญของชุมชม และการมีร้านหนังสือจริงๆ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับความรักในการอ่านที่ยืนยาว” Daniel Ross เจ้าของร้านหนังสือ ‘Storysmith’ ที่เพิ่งเปิดเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว กล่าว
Ross บอกด้วยว่า หลังจากเปิดร้านมา มีคนในย่านชุมชนมาเล่าให้ฟังถึงความดีใจที่ได้มีร้านหนังสือในชุมชนจริงๆ “หลายๆ คนมาร้านหนังสือและบอกกับเราว่า นี่คือสิ่งที่ย่านนี้ต้องการจริงๆ” เขาอธิบายเพิ่ม
ถ้าพูดในแง่ทิศทางของร้านหนังสืออิสระในอังกฤษดูน่าสนใจไม่น้อย บทความของ The Guardian ระบุว่า เทรนด์ใหม่ๆ คือการทำให้ร้านหนังสือกลายเป็นที่พบปะสังสรรค์ของชุมชมมากขึ้น รวมถึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ ที่ไม่ได้มีแค่หนังสือเพียงอย่างเดียว เพื่อเชื่อมโยงกับกิจวัตรประจำวันของผู้คน
อีกหนึ่งปัจจัยคือการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายของเหล่าผู้ทำร้านหนังสืออิสระ เพื่อสื่อสารกับเหล่านักอ่าน และสามารถอยู่ต่อไปในตลาดร่วมกับร้านหนังสือระดับใหญ่ๆ ของประเทศด้วยในเวลาเดียวกัน
อ้างอิงจาก
#Brief #TheMATTER