หาแล้วไม่เจอ ไปตรวจแล้วไม่มี กระทรวงอุตสาหกรรม แถลงข่าวว่า จากการส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบโรงงานต่างๆ จำนวน 470 แห่งที่เป็นจุดเสี่ยงก่อมลพิษ ผลคือ ‘ไม่พบ’ โรงงานที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานแต่อย่างใด
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พสุ โลหารชุน บอกว่า การตรวจสอบครั้งนี้ ทางกระทรวงได้ระดมเจ้าหน้าที่จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด รวมถึง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จับมือกันไปดูค่าฝุ่นละอองตามโรงงานด้วยกัน
นอกจากนี้ ยังตรวจสอบผ่านระบบตรวจวัดมลพิษทางอากาศ จากปล่องระบายอย่างต่อเนื่องอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า ‘Continuous Emission Monitoring System’ เป็นเวลา 24 ชั่วโมงจากโรงงานทั้งหมด 59 แห่ง และ 142 ปล่อง ก็ไม่พบค่าฝุ่นที่เกินมาตรฐาน
อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะยังไม่พบค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานจากโรงงาน 470 แห่ง แต่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ย้ำว่าจะเดินหน้าตรวจสอบโรงงานทั่วประเทศต่อไปอีก 7,700 โรงงาน รวมทั้งสุ่มตรวจมลพิษทางอากาศในพื้นที่เสี่ยง 12 จังหวัด
ก่อนหน้านี้ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ให้ความเห็นผ่านงานเสวนา ‘จุฬาฯ ฝ่าวิกฤตรับมือฝุ่น PM 2.5’ เอาไว้ว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่น โรงงานไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะ อาจมีเทคโนโลยีไม่เท่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ก็ต้องมีการตรวจที่เข้มข้นว่าฝุ่นที่ออกมาเกินค่ามาตรฐานหรือไม่
“โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงความร้อน มีกระจายตัวอยู่ในบริเวณภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ฝั่งตะวันตก ฝั่งตะวันออก ซึ่งหากเปรียบเทียบการกระจายของที่ตั้งของโรงงานเหล่านี้กับการกระจายตัวของฝุ่น PM 2.5 จะพบว่ามีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะฟันธงว่าโรงงานเหล่านี้เป็นแหล่งที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในขณะนี้หรือไม่ ก็คงต้องมีการตรวจวัดและเก็บข้อมูลมากกว่านี้” รศ.ดร.กุลยศ กล่าว
อ้างอิงจาก
https://mgronline.com/business/detail/9620000008071
https://www.prachachat.net/economy/news-281433
https://www.chula.ac.th/news/16177/
#Brief #TheMATTER