พูดถึงเรื่อง ขยะพลาสติก มลพิษที่ทำให้โลกร้อน หลายๆ คน และหลายประเทศ คงได้ผลักดัน การลดใช้ถุง และหลอดพลาสติก แต่เมื่อมีการสำรวจจริงๆ กลับพบว่าปัญหาของขยะพลาสติกที่ใหญ่ที่สุด เกิดจาก ตัวกรองบุหรี่
ก้นบุหรี่ที่มีไส้กรองพลาสติก กลายเป็นขยะพลาสติกที่มีมากที่สุดในโลก โดยจากการสำรวจขยะที่ถูกเก็บจากการทำความสะอาดมากที่สุดในปี 2018 ยังระบุว่า ตัวกรองบุหรี่เป็นขยะอันดับ 1 ที่เก็บได้ ถึง 2.5 ล้านชิ้น รองลงมาเป็นถุงห่อขนมที่ 1.7 ล้านชิ้น และขวดน้ำพลาสติก 1.5 ล้านชิ้น ซึ่งมีการระบุว่า ผู้สูบบุหรี่จำนวนมาก คิดว่าตัวกรองทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ แต่ในความเป็นจริง ตัวกรองนั้นทำจาก cellulose acetate ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่ง ที่ใช้เวลานานถึงหนึ่งทศวรรษในการย่อยสลาย
ปัจจุบัน มีการผลิตบุหรี่ประมาณ 6 ล้านล้านมวนต่อปีและกว่า 90% ของบุหรี่นั้นมีไส้กรองพลาสติก นั่นแปลว่า มีพลาสติกมากกว่าหนึ่งล้านตัน ทั้งองค์กรอนามัยโลกยังระบุว่า 2 ใน 3 ของก้นบุหรี่มักถูกทิ้งลงบนพื้นอย่างไร้ความรับผิดชอบ ซึ่งเมื่อมีการทำความสะอาดถนน หรือท่อระบายน้ำ ขยะเหล่านี้มักจะไหลออกไปทางท่อระบายน้ำ ไปถึงลำธาร แม่น้ำ และมหาสมุทร
การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ ยังได้ทดสอบ นำปลาไปอยู่ในน้ำ ที่เคยมีก้นบุหรี่แช่อยู่ ก่อนจะกำจัดออกไป พบว่า 4 วันครึ่งหลังอยู่ในน้ำนั้น ปลาได้ตาย ซึ่ง Thomas Novotny ศาสตราจารย์ด้านสุขภาพของมหาวิทยาลัยซานดิเอโก ระบุในการศึกษานี้ว่า มันแสดงให้เห็นว่าก้นบุหรี่ไม่เพียงแต่เป็นขยะพลาสติกทั่วไป แต่มันยังซึมเข้าไปในสภาพแวดล้อมทางน้ำและเป็นพิษที่อันตรายต่อสิ่งมีชีวิตด้วย
สหภาพยุโรป พยายามแก้ปัญหาขยะจากก้นบุหรี่ ด้วยกฎใหม่ที่จะกำหนดให้อุตสาหกรรมยาสูบต้องให้เงินทุนในการทำความสะอาดต้นขั้วบุหรี่ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของการริเริ่มลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และกดดันให้บริษัทยาสูบรับผิดชอบในการติดฉลากบนซอง ว่ามีพลาสติกที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ระดมทุนรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนัก จัดหาที่เขี่ยบุหรี่สาธารณะและที่เก็บขยะก้นบุหรี่ ทั้งบางเมืองทั่วโลกเองก็ได้เริ่มเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผลิตภัณฑ์บุหรี่ เพื่อนำไปใช้ในการทำความสะอาดถนน รวมถึงมีการเสนอ ให้ใช้ตัวกรองย่อยสลายได้ แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงถึงสารพิษ และระยะเวลาที่ยาวนานกว่าจะย่อยสลายด้วย
อ้างอิงจาก
#Brief #TheMATTER