ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ หรือที่เราติดปากเรียกกันว่า ‘โลกร้อน’ ส่วนหนึ่งมาจากการปล่อยคาร์บอนในภาคคมนาคมขนส่ง
ทีนี้ในสัปดาห์ก่อนก็มีข้อเสนอน่าสนใจในเวทีพูดคุยซึ่งจัดโดยภาครัฐของเยอรมนี ว่าเป็นไปได้ไหมที่จะจำกัดความเร็วของรถยนต์ที่วิ่งอยู่บนทางหลวงของเยอรมนี ซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลกว่า ‘วิ่งเร็วเท่าไรก็ได้’ – เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน
ปัจจุบันทางหลวงของเยอรมนีกว่า 70% ไม่มีการจำกัดความเร็ว คุณสามารถเหยียบได้ถึง 200 – 250 กิโลเมตรก็ได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย!
และแม้ข้อเสนอนี้จะได้รับเสียงสนับสนุนจากฝ่ายการเมือง เช่น พรรคกรีน เพราะมองว่าจะช่วยลดการเสียชีวิตบนท้องถนนได้ถึงหนึ่งในสี่ แต่ Andreas Scheuer รมว.คมนาคมเยอรมนี ก็ออกมาบอกว่า “เรื่องนี้แย้งกับสามัญสำนึกทั้งหมด” เช่นเดียวกับมีการล่าชื่อ (ซึ่งได้กว่า 5 หมื่นรายชื่อแล้ว) คัดค้านข้อเสนอนี้ เพราะมองว่าต้องการทำลายอุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนี
ขณะที่สมาคมผู้ผลิตรถยนต์เยอรมนี ระบุว่า การจำกัดความเร็วบนทางหลวงช่วยลดการเปลี่ยนคาร์บอนได้เพียง 1% เท่านั้น มาตรการที่น่าจะยั่งยืนกว่าคือผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าให้ออกมาวิ่งแทน
ความจริงแล้วรัฐบาลเยอรมนีก็ใช้หลายๆ มาตรการ เพื่อจำกัดการปล่อยมลพิษจากรถยนต์อยู่แล้ว เช่น ในเมืองฮัมบูร์กก็ห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งในเขตเมือง หรือในหลายๆ เมืองก็ให้ใช้บริการขนส่งสาธารณะฟรีเลย คนจะให้เลิกใช้รถยนต์ส่วนตัว
แต่ข้อเสนอให้จำกัดความเร็วบนทางหลวงของเยอรมนี หากดูจากปฏิกิริยาของหลายๆ ฝ่าย ถ้าจะทำให้เกิดขึ้นได้จริง ผู้ผลักดันอาจจะต้องใช้พลังงานภายในมากอยู่สักหน่อย เพราะสิ่งที่ท้าทายไม่ใช่แค่กฎหมาย แต่เป็นวัฒนธรรมการใช้รถยนต์ของคนเยอรมันเลยทีเดียว – จนมีคนเปรียบเทียบว่า ไม่ต่างกับเสนอให้ออกกฎหมายควบคุมปืนในสหรัฐฯ นั่นแหล่ะ
อ้างอิงจาก
#Brief #TheMATTER