การใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อการสอนถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่สำหรับมณฑลหนึ่งในจีนได้เกิดความกังวลว่าการใช้เทคโนโลยีในการเรียนมากจนเกินไปจะเป็นสาเหตุให้เด็กๆ สายตาสั้นได้
มณฑลเจ้อเจียง ในประเทศจีนได้ร่างข้อบังคับขึ้นมา และขอความเห็นจากสังคมว่าด้วยการแบนการสั่งการบ้านผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือเพื่อถนอมสายตาของผู้เรียน รณรงค์ให้กลับมาสั่งการบ้านบนกระดาษตามเดิม
ครูในโรงเรียนหลายแห่งในประเทศจีนพึ่งพาการใช้แอพพลิเคชั่นในการเรียนการสอนมากจนเกินไป ใช้วิธีสั่งการบ้านโดยการถ่ายส่งให้ผู้ปกครอง นั่นหมายความว่าเด็กนักเรียนจะต้องทำการบ้านโดยต้องจ้องสลับไปสลับมาระหว่างหน้าจอและกระดาษ
อีกแนวทางที่ได้มีการร่างไว้คือ ไม่ให้เด็กประถมและมัธยมนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในห้องเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำกัดจำนวนการบ้าน และเพิ่มเวลาการพักผ่อน การเล่นกีฬา รวมถึงกิจกรรมต่างๆ นอกห้องเรียน นอกจากนี้แล้วยังมีแนวทางให้สำหรับครูผู้สอน สร้างข้อบังคับในเรื่องของการให้จำกัดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้ใช้ได้เพียง 30 เปอร์เซ็นต์ของระยะเวลาสอน
ชาวจีนมีปัญหาสายตาสั้นกันมากขึ้นเรื่อยๆ บางส่วนมาจากพฤติกรรมการใช้เวลามองหน้าจอมากเกินไป คิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากชาวจีนทั้งหมดแล้วมี 31 เปอร์เซ็นต์ที่สายตาสั้น ที่น่าสนใจก็คือในจำนวนเด็กมัธยมทั้งหมดมีคนสายตาสั้น 77 เปอร์เซ็นต์ และวัยมหาลัยมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์
ข้อบังคับนี้มีเป้าหมายที่จะลดอัตราผู้มีอาการสายตาสั้นลงในผู้เรียน โดยตั้งใจจะลดให้เหลือ 70 เปอร์เซ็นต์ ในมัธยมปลาย 60 เปอร์เซ็นต์ในมัธยมต้น และ 38 เปอร์เซ็นต์ในวัยประถม
จากเหตุการณ์นี้ไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิกการใช้โทรศัพท์มือถือในการเรียนไปโดยปริยาย แอพพลิเคชั่นที่ช่วยเรื่องการเรียนและฝึกภาษายังมีการใช้กันอย่างแพร่หลายมาก
ปัญหาการใช้เวลามองหน้าจอมากเกินไปกลายเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิงค์โปร์ที่มีเปอร์เซ็นต์คนสายตาสั้นมากที่สุดในโลกถึง 80 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว อัตราการมีสายตาสั้นในเอเชียนั้นมีสูงกว่ายุโรปและอเมริกาเหนือเสียอีก
อ้างอิงจาก
#Brief #TheMATTER