ขยะพลาสติกนั้นเป็นปัญหาอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในท้องทะเลซึ่งมีการทิ้งขยะพลาสติกลงไปปีละมากกว่า 8 ล้านตัน งานวิจัยชิ้นใหม่ พบว่าบางอย่างในร่างกายของปลาหมึก อาจแก้ปัญหาพลาสติกนี้ได้
กลุ่มนักวิจัยนำทีมโดย Melik Demirel จาก Pennsylvania State University เผยว่าโปรตีนที่หาได้จากปลาหมึกนั้นสามารถนำไปสร้างเป็นวัสดุทางเลือกแทนพลาสติกที่มีความยั่งยืนกว่า โดยข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ได้ถูกตีพิมพ์ลงใน Frontiers in Chemistry เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา
โปรตีนชนิดนี้คือสิ่งที่สร้าง ‘Squid Ring Teeth’ หรือย่อว่า SRT มีลักษณะคล้ายเส้นไหม สามารถพบได้ตรงบริเวณ suction cups หรือตัวดูดจับเหยื่อบนหนวดปลาหมึก suction cups แต่ละอันจะมีส่วนที่เป็น ring teeth วงแหวนฟันที่ปลาหมึกใช้ในการจับอาหารให้เข้าที่ ฟันของปลาหมึกนี้เกิดจากโปรตีนที่ว่านี้เอง
Demirel บอกว่า ในขณะนี้ทีมของเขาได้สร้างตัวต้นแบบของไฟเบอร์ ตัวเคลือบ และวัตถุสามมิติจากโปรตีน ซึ่งสิ่งจากธรรมชาติเหล่านี้เป็นอีกทางเลือกชั้นเยี่ยมที่จะใช้แทนพลาสติกได้และยังสามารถย่อยสลายได้โดยแบคทีเรียตามธรรมชาติ ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนั้นแล้วโปรตีนนี้ ยังมีคุณสมบัติพิเศษในการให้ความสามารถในการยืดหยุ่น คล่องตัว และแข็งแรง อีกทั้งยังมีคุณสมบัติในด้านความร้อน ฟื้นฟูสภาพเองได้ และเป็นตัวนำไฟฟ้าได้ ความสามารถทั้งหมดนี้อาจนำไปปรับใช้กับสิ่งอื่นได้อีกในอนาคต
แนวทางหนึ่งในการนำไปปรับใช้ อาจจะเป็นการสร้างวัสดุผ้าที่ฟื้นฟูตัวเองและสามารถรีไซเคิลได้โดยการสร้างสารเคลือบที่ทนทานต่อความเสียหายที่เกิดจากการใช้เครื่องซักผ้า วิธีนี้ถือเป็นการลดจำนวนไมโครไฟเบอร์จากเสื้อผ้าที่โดยปกติแล้วจะไหลลงทะเลในท้ายที่สุด เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการลดขยะพลาสติกขนาดจิ๋วในทะเลก็ว่าได้
ถ้าคิดว่าการที่จะนำโปรตีนดังกล่าว มาใช้จำเป็นต้องไปไล่จับปลาหมึกล่ะก็สบายใจได้เพราะโปรตีนชนิดนี้ สามารถสร้างได้ในห้องแล็บด้วยวิธีดัดแปลงพันธุกรรมแบคทีเรียนั่นเอง เพื่อสร้างคุณสมบัติจากโปรตีน ที่ทำให้มีความยืดหยุ่น แข็งแรง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในตอนนี้ต้นทุนการผลิตโปรตีนสังเคราะห์ มีราคาสูงมากถึงกิโลกรัมละ 100 ดอลลาร์หรือประมาณ 3100 บาท ยังต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติมอีกมาก Demirel หวังว่าราคาจะลดลงมาเหลือเพียงแค่หนึ่งในสิบของราคาปัจจุบัน
“โปรตีนจากปลาหมึกสามารถนำไปผลิตวัสดุรูปแบบใหม่เพื่อใช้ในสายงานหลายด้านรวมถึงสายงานพลังงาน และยาชีวภาพ ตลอดไปจนถึงด้านความปลอดภัยและภาคส่วนการป้องกัน” กล่าวโดย Demirel
อ้างอิงจาก
https://edition-m.cnn.com/2019/02/21/health/squid-protein-plastic-alternative-intl/index.html
https://motherboard.vice.com/en_us/article/a3bnea/squid-is-the-new-eco-friendly-plastic-study-says
#Brief #TheMATTER