ป้ายโฆษณาตามระบบขนส่งสาธารณะมีผลต่อผู้บริโภคแบบเราๆไม่มากก็น้อย เพราะเราจะได้เห็นมันซ้ำๆในทุกการเดินทาง นั่นคือสาเหตุที่ระบบขนส่งสาธารณะในลอนดอนตัดสินใจแบนโฆษณาอาหารประเภท junk food หรืออาหารที่ไม่มีประโยชน์โดยหวังว่าจะแก้ปัญหาโรคอ้วนในเด็ก
Sadiq Khan นายกเทศมนตรีของลอนดอนได้ออกนโยบายให้การคมนาคมลอนดอนแบนการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมันหรือปริมาณเกลือและน้ำตาลมากเกินไปออกจากระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา หวังว่าจะสามารถจัดการกับปัญหาโรคอ้วนในเด็กได้ เปรียบเป็นการต่อกรกับระเบิดเวลาของโรคอ้วนในเด็ก
ลอนดอนเป็นหนึ่งในเมืองมีอัตราการมีโรคอ้วนในเด็กสูงที่สุดในยุโรป ด้วยจำนวนเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของเด็กวัย 10 ถึง 11 ขวบ เป็นโรคอ้วนและมีน้ำหนักเกิน
“นายกเทศมนตรีมั่นใจว่าความเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่ใช่แค่เป็นการลดการเปิดเผยโฆษณา Junk Food ต่อเด็กเท่านั้น แต่ยังจะให้ชาวลอนดอนได้ตัดสินใจเลือกอาหารที่มีประโยชน์ให้กับตนเองและครอบครัว” กล่าวโดยโฆษกของนายกเทศมนตรีลอนดอน “ท่านทำเท่าทีทำได้ด้วยอำนาจที่มี แต่มันก็ชัดเจนว่าวิธีนี้ไม่ได้ตรงประเด็นถึงกับจะแก้ปัญหาได้ในข้ามคืน”
สถานที่ที่จะต้องนำนโยบายนี้ไปปรับใช้ได้แก่
– รถบัส รถไฟบนดินและใต้ดิน ที่อยู่ในการดูแลของคมนาคมลอนดอน
– ถนนที่อยู่ในการดูแลของคมนาคมลอนดอน รวมถึงโฆษณาตรงวงเวียนและป้ายรถบัส
– รถแท็กซี่ รถยนต์เช่าส่วนตัว และบริการโทรเรียกรถ Dial-a-Ride
– บริการทางแม่น้ำ
– รถราง
– รถเคเบิลคาร์ของสายการบินเอมิเรตส์
– สถานี Victoria Coach Station
โฆษณาอาหาร Junk Food ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะต้องถูกปลดลงในทันที เว้นแต่ว่าทางบริษัทนั้นๆจะมีสัญญาการซื้อที่โฆษณาตรงนั้นไว้ในระยะเวลาที่นานกว่าปกติ สำหรับโฆษณาใหม่ๆนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายใหม่นี้ทั้งหมด โดยต้องโฆษณาสินค้าที่ปริมาณไขมัน เกลือ และน้ำตาลไม่สูงเกินไปเท่านั้น
ทางสมาคมโฆษณาบอกว่าการตัดสินใจแบนในครั้งนี้จะมีผลกระทบที่เล็กน้อยมากต่อประเด็นทางสังคมในวงกว้างที่ส่งผลต่อปัญหาโรคอ้วน และการกระทำนี้จะส่งผลให้การคมนาคมลอนดอนสูญเสียรายได้ที่มาจากโฆษณา อาจมีผลต่อราคาค่าโดยสารในอนาคต
ลอนดอนไม่ใช่ที่แรกที่มีการแบนในลักษณะนี้ อัมสเตอร์ดัมมีการแบนโฆษณาอาหาร Junk Food ออกจากสถานีรถไฟใต้ดิน และบริษัทรถบัสเมืองแคนเบอร์ราก็มีการนำแนวทางนี้ไปปรับการโฆษณาเช่นเดียวกันในปี 2015
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/uk-england-london-47318803
#Brief #TheMATTER