“แนวทางการสรรหาคงไม่ยากลำบาก จะเอาจากคนที่เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยนำมาประกอบกัน”
เป็นคำให้สัมภาษณ์จากรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย วิษณุ เครืองาม ถึงเรื่องแนวทางการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสม ที่จะเข้าไปทำหน้าที่เป็น ส.ว. ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้รวบรวมรายชื่อต่างๆ แล้วได้กว่าหลายพันรายชื่อ ก่อนที่คณะกรรมการคัดเลือกจะตัดจำนวนให้เหลือ 400 คน เพื่อให้ คสช. พิจารณาต่อไป
รองนายกฯ บอกว่า การคัดเลือกผู้สมัคร ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลเหล่านั้นก่อนเสนอ คสช. เพราะตำแหน่ง ส.ว.อาจมีทั้งคุณและโทษ รวมถึงการแสดงบัญชีทรัพย์สิน และมีข้อจำกัดทางกฎหมายอีกหลายประการ
ทั้งนี้ กระบวนการคัดเลือกแบบย่อๆ คือ คณะกรรมการคัดเลือก ส.ว. ที่ คสช. แต่งตั้ง จะเลือก 400 คน เพื่อให้ คสช. พิจารณาก่อนสรุปให้เหลือ 194 คนต่อไป
เว็บไซต์สยามรัฐและโพสต์ทูเดย์ รายงานว่า ผู้สื่อข่าวได้ถามรองนายกฯ วิษณุ ถึงเรื่อง การให้ คสช. เลือกเหลือ 194 คน แต่ใน คสช. ก็มีผู้บัญชาการเหล่าทัพที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่งอยู่ จะถูกมองว่ามีส่วนได้ส่วนเสียรึเปล่า?
รองนายกฯ ตอบว่า ไม่เป็นไร และไม่เห็นว่ามีปัญหา จะมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไรเมื่อเขาเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง ส่วนการจะบอกว่าเลือกพวกตัวเองนั้น ใครมาเป็นก็โดนครหาว่าเลือกพวกตัวเองได้ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ นักข่าวยังมีคำถามว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ต้องเป็นกลางทางการเมือง แต่สังคมจะรู้ได้อย่างไรว่า คณะกรรมการชุดนี้เป็นกลางจริงหรือไม่
รองนายกฯ ตอบว่า ‘ไม่รู้’
อ้างอิงจาก
https://siamrath.co.th/n/67276
https://www.posttoday.com/politic/news/581759
https://www.tnamcot.com/view/P2frxkE
#Brief #TheMATTER