การถูกรักและตกเป็นที่รัก มักเป็นเรื่องที่น่ายินดีอยู่เสมอๆ แต่ก็มีอยู่หลายครั้งเหมือนกัน ที่เราอาจพบว่า การพยายามเป็นที่รักของคนทุกคนนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย มิหนำซ้ำ ยังอาจสร้างความเจ็บปวดให้อีกด้วย
ถ้าพูดกันถึงในบริบทที่ทำงาน มีงานทางจิตวิทยาหลายชิ้นที่พยายามชี้ให้เห็นว่า การเป็นคน ‘ไนซ์ๆ’ ให้กับทุกคนเนี่ยสร้างรอยแผลให้กับเราได้มากมายทีเดียว โดยเฉพาะกับการพร้อมรับภาระหน้าที่ และตอบรักตกลงในสิ่งที่ตัวเองไม่สามารถจะทำได้
ในอีกมุมหนึ่ง การพยายามเป็นคนดีและเป็นที่รักให้กับทุกคน ยังเป็นเหมือนเงื่อนไขที่บีบให้ตัวเราต้องกดความรู้สึกด้านลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในลงไป และแน่นอนว่า เมื่อความรู้สึกด้านลบมันโดนทับถมรวมกันนานๆ และไม่ถูกระบายออกมา ภาวะจิตใจของตัวเราเองนี่แหละ ที่สุ่มเสี่ยงจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
ขณะเดียวกัน มันยังเป็นแรงส่งให้เรามองความผิดพลาด หรือสิ่งบกพร่องต่างๆ ไม่ตรงตามที่มันควรจะเป็น พูดอีกนัยหนึ่งคือ เพราะไม่อยากเป็นคนไม่ดีในสายตาผู้อื่น เราจึงมักหลีกเลี่ยงการปะทะ และไม่ขัดแย้ง
กระทั่งคิดว่า ความผิดพลาดต่างๆ นั้นมันเกิดขึ้นเพราะตัวเราเองยังเข้าใจคนอื่นได้ไม่ดีพอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ มันอาจจะทำให้เราลืมมองปัญหาในมิติอื่นๆ ไปได้
Jessica Stillman นักเขียนของเว็บไซต์ Inc. อธิบายเพิ่มเติมถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยเธอใช้คำว่า ‘Office Superman’ ที่หมายถึงคนใจดีแบบสุดๆ และพยายาทำทุกอย่างเพื่อรักษาความดีของตัวเองไว้ ยังอาจเสี่ยงที่จะถูกมองในด้านลบจาก ‘ทุกคน’ ที่ร่วมงานอยู่ได้เหมือนกัน
Pat Barclay บอกว่า จริงอยู่ที่โดยส่วนใหญ่แล้ว เราจะชอบทำงานกับคนดีๆ แต่ถ้าเป็นในภาวะที่การแข่งขันสูงมากๆ แล้ว คนดีในลักษณะนี้แหละจะตกเป็นเป้าหมายแรกๆ ของความรู้สึกลบภายในที่ทำงาน
ส่วน Dolly Chugh นักจิตวิทยาด้านสังคม เคยเสนอสิ่งสำคัญเอาไว้ใน TED Talk ว่า จริงๆ แล้วการพยายามกอดรัด และรักษาอัตลักษณ์ หรือบุคลิกการเป็นคนดี (Good person personality) ไว้อย่างเหนียวแน่นเกินไป มันอาจทำให้เราไม่กล้าเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะกลัวว่าถ้าก้าวออกจากอัตลักษณ์นี้ เราก็อาจจะถูกเกลียด และมองว่าไม่ได้เป็นคนดีอีกต่อไป
รวมถึงไม่มีที่ว่างให้เรียนรู้จากความผิดพลาด ซึ่งเป็นหนทางจะช่วยให้เราพัฒนาตัวเองในอนาคตอีกด้วย
อ้างอิงจาก
https://www.psychologytoday.com/us/blog/fixing-families/201807/the-dangers-being-nice
#Brief #TheMATTER