กระแสเรื่องแนวคิดเก็บรายได้ OTT เช่นเฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือเว็บสตรีมมิงต่างๆ ของ กสทช. ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตากันต่อไป โดยล่าสุดเลขาธิการ กสทช. ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ได้ชี้แจงเรื่องนี้เพิ่มเติมผ่านทางทวิตเตอร์แล้ว
เลขาธิการ กสทช. ได้ยืนยันว่า กสทช.ไม่ได้จัดเก็บค่าบริการ OTT จากประชาชนผู้ใช้บริการ และทุกคนยังสามารถใช้งานทั้งยูทูบ ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊กได้ตามปกติ
อย่างไรก็ดี เลขาธิการ กสทช. จะนำแนวคิดนี้ไปเสนอต่อที่ประชุมอาเซียนในเดือนสิงหาคมที่กำลังจะถึงนี้ ซึ่งเป็นวาระและโอกาสที่ได้จะเป็นประธานอาเซียนด้านโทรคมนาคมอีกด้วย ซึ่งถ้าแนวคิดนี้ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมอาเซียน กสทช.ก็จะมีขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ผู้ประกอบการโทรคมนาคม และผู้ให้บริการ OTT ก่อน
“เรื่องนี้เป็นเพียงแค่แนวคิดยังไม่ได้ข้อสรุป และมีผลบังคับใช้แต่อย่างใด ซึ่งหากที่ประชุมอาเซียนให้ความเห็นชอบ สำนักงาน กสทช. จึงจะทำการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อให้ได้แนวทางที่ดีที่สุด ซึ่งหากแนวทางที่สำนักงาน กสทช. เสนอหลายๆ ฝ่ายเห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้ มีแนวทางที่ดีกว่า สำนักงาน กสทช. ก็พร้อมน้อมรับ” เลขาฯ กสทช. ระบุผ่านทวิตเตอร์
ด้าน ‘ประชาชาติธุรกิจ’ ได้รายงานถึงความเห็นของแหล่งข่าวระดับสูงจากเน็ตฟลิกซ์ ถึงแนวคิดนี้ของ กสทช. ว่า รู้สึกตกใจกับไอเดียการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้โครงข่ายของ กสทช. และคงต้องชี้แจงข้อมูลกับทาง กสทช. ถึงข้อเป็นห่วงเรื่องผลกระทบต่อผู้ให้บริการรายเล็กที่เพิ่งเริ่มธุรกิจ ที่ไม่สามารถรับต้นทุนนี้ได้
ประชาชาติธุรกิจ ยังรายงานเพิ่มเติมถึงความเห็นในบอร์ด กสทช. จาก พันเอก นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นจริงได้ง่าย เพราะการจัดเก็บรายได้จาก OTT นั้น แม้จะมีความพยายามทำในหลายประเทศ แต่ไม่มีประเทศใดประสบความสำเร็จ
อ้างอิงจาก
http://www.twitlonger.com/show/n_1sqru98
https://www.prachachat.net/ict/news-312773
https://www.prachachat.net/ict/news-312775
#Brief #TheMATTER