หิวแล้วก็กิน แต่กินไปเรื่อยๆ แล้วทำไมมันยังไม่อิ่มอีกเนี่ย! โมเมนต์แบบนี้นี่ยากลำบากเหมือนกันเนอะ แต่มันจะเป็นอย่างไร ถ้าเรามียีนกลายพันธุ์ที่ทำให้เรารู้สึก ‘อิ่ม’ ได้ตลอดเวลา?
มีนักวิจัยในอังกฤษพบ ภาวะยีนกลายพันธุ์บางชนิด ที่ไปปิดความรู้สึกอยากอาหาร นอกจากนี้ยังลดโอกาสที่จะเกิดโรคอย่างเบาหวานหรือโรคหัวใจอีกด้วย ทำให้เห็นว่าบางทีไม่ใช่ว่าคนผอมตั้งใจกินน้อย หรือเผาผลาญได้ดีกว่าหรอก แต่ระบบในร่างกายของพวกเขามันแทบจะทำให้รู้สึกอิ่มตลอดเวลา
วิจัยนี้นำโดย ดร. Sadaf Farooqi ศาสตราจารย์ด้านระบบเผาผลาญและยา ที่มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ และ Nick Warcham นักระบาดวิทยาที่มหาวิทยาลัย เจาะลึกไปที่ยีน MC4R โดยใช้ตัวอย่างดีเอ็นเอและข้อมูลทางการแพทย์จากคนจำนวนครึ่งล้าน ในช่วงอายุ 40 ถึง 69 พร้อมติดตามสุขภาพของพวกเขา
ยีน MC4R เป็นยีนที่มีหน้าที่ให้สัญญาณว่าร่างกายได้รับอาหารเพียงพอแล้ว เรียกง่ายๆ ว่าเป็นตัวทำให้รู้สึกอิ่มนั่นแหละ ผลแสดงให้เห็นว่ามีเหตุผลทางชีววิทยา ที่ทำให้คนบางกลุ่มมีปัญหากับน้ำหนัก แต่คนบางกลุ่มกลับไม่มี ที่น่าสนใจคือส่วนใหญ่มาจากเรื่องของความอยากอาหาร ไม่ใช่ระบบเผาผลาญ
สำหรับคนที่ผอมนั้น ถ้ายีน MC4R เกิดกลายพันธุ์ ทำงานตลอดเวลา จะทำให้รู้สึกอิ่มและไม่อยากอาหาร มีคนประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดที่มีภาวะนี้
ในทางกลับกัน ยีนตัวนี้ก็อาจกลายพันธุ์ทำให้กินเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึกอิ่มสักที กลับรู้สึกหิวตลอดเวลา ทำให้มีน้ำหนักเกิน และยังมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจ มากกว่าคนที่ไม่มีการกลายพันธุ์นี้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์
คาดว่าการค้นพบความสำคัญของยีน MC4R ต่อการควบคุมน้ำหนัก จะสามารถนำไปต่อยอดในวงการยาเพื่อป้องกันภาวะน้ำหนักเกิน หรือลดน้ำหนักได้ในอนาคต
อ้างอิงจาก
https://www.nytimes.com/2019/04/18/health/genetics-weight-obesity.html
https://futurism.com/the-byte/genetic-variants-obesity-diabetes
#Brief #TheMATTER