จบมหากาพย์คดีโฮปเวลล์อันโด่งดังเสียที แต่เป็นบทสรุปที่อาจทำให้ผู้เสียภาษีต้องสะอึก เมื่อศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้รัฐบาลไทยต้องจ่าย ‘ค่าโง่’ การยกเลิกโครงการนี้ แก่บริษัทเอกชนเป็นเงินกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท รวมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
ย้อนอดีตก่อนว่า โครงการก่อสร้าง ‘ระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร’ ที่บริษัท โฮปเวลล์ ไทยแลนด์ จำกัด ได้รับงานไป จนหลายๆ คนเรียกว่า #โครงการโฮปเวลล์ เมื่อปี 2534 มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หลังจากรัฐบาลไทยยกเลิกสัญญาสัมปทานกับบริษัท ในปี 2541 เมื่อพบว่าการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามกฎหมาย
ต่อมา บริษัทโฮปเวลล์ฯ ยื่นร้องอนุญาโตตุลาการ ที่ชี้ขาดว่ารัฐบาลไทยต้องชดใช้ค่าเสียหาย (แต่สื่อเรียกว่า ‘ค่าโง่’ เพราะภาครัฐสมัยนั้น ทำสัญญาเสียเปรียบเอกชน) เป็นเงินกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท
แม้ศาลปกครองชั้นต้น จะพิพากษาให้คำชี้ขาดของอนุญาโตฯ เป็นโมฆะ เนื่องจากบริษัทโฮปเวลล์ฯ ยื่นคำร้องล่าช้ากว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่ในวันนี้ ศาลปกครองสูงสุดก็มีคำพิพากษาสุดท้าย – เพราะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาไม่ได้อีก – กลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เพราะชี้ว่า ในสัญญาของโครงการโฮปเวลล์ไม่ได้กำหนดระยะเวลายื่นต่อคณะอนุญาโตฯ ในกรณีที่เกิดข้อพิพาท ซึ่งเมื่อเทียบเคียบกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้ถืออายุความการฟ้องคดีต่อศาล คือ 5 ปี แต่ศาลปกครองเพิ่งเปิดในปี 2544 และบริษัทโฮปเวลล์ฯ ยื่นฟ้องต่ออนุญาโตฯ ในปี 2547 จึงยังอยู่ในอายุความ
จึงตัดสินให้รัฐบาลไทยจ่ายเงินชดเชยแก่บริษัทโฮปเวลล์ฯ ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ รวมเป็นเงินกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
– อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มได้ที่: https://drive.google.com/file/d/1kW67F0YtJxlTmybM0iMjF-EgsUrQhYda/view
– อ่านย้อนอดีตคดีค่าโง่โฮปเวลล์ได้ที่: https://thematter.co/pulse/what-is-hopewell-project/75680
#Brief #TheMATTER