งานที่เคยทำได้ดีเริ่มเปลี่ยนไป ไอเดียใหม่ๆ เริ่มเหือดแห้ง อยากรักษาความต่อเนื่องให้ได้เสมอๆ แต่ผลของการทำสิ่งนั้น กลับกลายเป็นคือความรู้สึกฝืนๆ ที่ยิ่งทำให้งานมันแย่ลงไปกว่าเดิม
เคยรู้สึกกันไหมว่า งานที่เราเคยทำได้ดีและมีประสิทธิภาพ มันเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว แต่บางครั้งเราก็ไม่แน่ใจว่า สถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่มันคือการหมดไฟ หรือ Burn Out แค่ไหน หรือมันจะเป็นแค่การ ‘ฟอร์มตก’ ตามปกติทั่วไปและเดี๋ยวมันก็น่าจะดีขึ้นเอง?
กลายเป็นคำถามที่หลายคนน่าจะสงสัยว่า การจะบอกว่าตัวเองหมดไฟ หรือไม่หมดไฟนี่ เราจะตัดสินจากอะไรกันแน่นะ
Ellen Hendriksen เจ้าของหนังสือชื่อว่า ‘ How to Be Yourself: Quiet Your Inner Critic and Rise Above Social Anxiety’ อธิบายว่า มันมีอยู่ 3 สัญญาณใหญ่ๆ ที่ช่วยให้เราสังเกตตัวเองได้
สัญญาณแรกคือ ความรู้สึกอ่อนล้าทางอารมณ์ (emotional exhaustion) ซึ่งก็มีความหมายตรงๆ เลยว่า ความรู้สึกที่ไม่ได้อยากเดินหน้าต่อ เหนื่อยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
ส่วนสัญญาณต่อมาคือ Depersonalisation หรือ ภาวะที่เราเริ่มไม่มองคนอื่นในฐานะตัวบุคคล และเริ่มคิดว่าคนเหล่านั้นเป็นภาระอะไรบางอย่าง ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน
สัญญาณที่สาม คือ การสูญเสียโฟกัส (Losing the ability to focus) เช่น งานรูปแบบเดิมที่เคยใช้เวลาและกำลังเท่าเดิม แต่มันกลับได้ผลแย่และน้อยกว่าที่เคยทำมาแบบเมื่อก่อน พูดอีกแบบหนึ่งคือ ทำงานเท่าเดิม (หรือมากกว่าเดิม) แต่ผลลัพธ์น้อยลง เพราะเราไม่มีโฟกัสเหมือนเมื่อก่อนแล้ว
นอกจากการหยุดพัก เพื่อหาจังหวะใหม่ในการทำงานให้กับตัวเองแล้ว ยังมีคำแนะนำว่า ทางออกในระยะยาวๆ คือ การใช้เวลาที่หยุดพักนี่แหละ มาคิดใคร่ครวญกับตัวเองดู เช่น การตั้งคำถามถึงอนาคตที่เราต้องการ มีอะไรบ้างที่เราต้องปรับปรุง เช่นเดียวกับ เราแบกรับอะไรไว้เยอะเกินไปรึเปล่า แล้วเราจะสามารถขอความช่วยเหลือจากใครได้บ้าง
หลายครั้งที่ภาวะการหมดไฟ มักเกิดขึ้นจากการที่เราแบกรับภาระมากเกินไปจนที่ไม่รู้ตัว ช่วงเวลาพักผ่อนหลังจาก Burn out จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะได้ตัดสินว่าพร้อมจะปลดอะไรที่ไม่จำเป็นออกไปจากชีวิตการทำงานบ้าง
อ้างอิงจาก
https://qz.com/work/1462012/the-key-to-avoiding-burnout-when-you-cant-take-time-off/
#Brief #TheMATTER