หลายๆ ครั้ง เวลาเด็กนักเรียนออกมาประท้วงเรียกร้องอะไรสักอย่าง ก็มักจะเกิดการตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้ง ว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือเปล่า
ในอเมริกา หลังเกิดเหตุบุกยิงในโรงเรียนต่างๆ เด็กนักเรียนหลายร้อยคนก็ได้ออกมาแสดงความเห็นผ่านการประท้วง เรียกร้องเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืน ถึงแม้หลายๆ ฝ่ายจะมองว่าเป็นเรื่องดีที่เด็กเหล่านี้ มีจุดยืนเป็นของตัวเอง แต่บางกลุ่มก็เห็นว่าพวกเขา ยังไม่มีวุฒิภาวะมากพอ และขาดความเข้าใจในรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการได้ออกมาแนะนำให้สังคมทบทวนธรรมชาติของการศึกษา ในสังคมอเมริกา โรงเรียนควรแสดงจุดยืนในประชาธิปไตยแบบอเมริกา และใช้โอกาส แม้กระทั่งในเหตุโศกนาฏกรรมแบบนี้ ให้นักเรียนได้เรียนรู้
แหล่งข่าวอธิบายว่าจริงๆ แล้วเด็กนักเรียนมีสิทธิที่จะมีส่วนรวม ในความขัดแย้งทางการเมือง และมีสิทธิเรียนรู้ที่จะโต้แย้ง ทั้งเรื่องการสร้างจิตสำนึก การสร้างสัมพันธ์ การโน้มน้าว การสาธิตต่อหน้าสาธารณชน และการหาลู่ทางเปลี่ยนรัฐบาลดั้งเดิม แต่การเรียนการสอนแบบนี้มีแค่ในบางโรงเรียนเท่านั้น เพราะบางทีโรงเรียนก็เอาแต่โฟกัสไปที่การเรียนเพื่อสอบ
นอกจากนี้ นักเรียนก็ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับความรับผิดชอบในฐานะพลเมือง ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการโต้แย้ง อย่างการประเมินความยุติธรรมของกฎหมาย แยกแยะระหว่างการโต้แย้งที่มีประสิทธิภาพกับการก่อความวุ่นวาย และประท้วงอย่างไรไม่ให้รบกวนคนอื่น
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1969 เด็กนักเรียนได้ประท้วงเพื่อต่อต้านสงครามเวียดนาม โดยการใส่สายรัดข้อมือสีดำ โรงเรียนกล่าวตักเตือนแล้ว แต่เด็กๆ ก็ยังทำอยู่ จึงถูกพักการเรียน ทำให้ผู้ปกครองไม่พอใจจนเป็นเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล แต่สุดท้ายศาลสูงสุดอเมริกาก็เห็นชอบกับฝ่ายเด็กๆ พร้อมบอกว่า “เด็กๆ จะต้องไม่ละทิ้งสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ในการแสดงออกอย่างเสรี ที่โรงเรียน” ประท้วงได้ ตราบใดที่ไม่ไปกีดกันการเรียนของคนอื่นๆ
สิทธิในการแสดงความเห็นต่าง หรือโต้แย้ง ไม่ได้ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญอเมริกา แต่เป็นสิทธิพลเมืองที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจในความเป็นพลเมืองดี และประชาธิปไตยอันรุ่งเรือง ทำให้เกิดการสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็น และสร้างความเปลี่ยนแปลง ตามวิถีอเมริกา ทุกคนสามารถออกความเห็นได้ถ้ารู้สึกไม่เห็นด้วย
อ้างอิงจาก
http://theconversation.com/teaching-students-how-to-dissent-is-part-of-democracy-93046
#Brief #TheMATTER