ดัชนีชี้วัดความสำเร็จของประเทศควรมาจากอะไร? สำหรับรัฐบาลนิวซีแลนด์แล้ว ปัญหาสุขภาพจิตใจของประชาชน และความยากจนคือเรื่องสำคัญที่สุด และเชื่อว่ามันสำคัญมากไปกว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ
Grant Robertson รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของนิวซีแลนด์ ประกาศว่า ปัญหาความยากจนในเด็ก ความรุนแรงในครอบครัว และสุขภาพจิต เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ที่ต้องช่วยเหลือ ในแนวคิดของงบประมาณ wellbeing budget ที่จะทุ่มงบประมาณทั้งหมดมาพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน งบประมาณนี้จะถูกส่งต่อไปในวันที่ 30 พฤษภาคม
นอกจากนี้นิวซีแลนด์เอง ก็ประกาศชัดเจนด้วย ว่าเป็นประเทศแรกของโลกที่จะวัดความสำเร็จจากความอยู่ดีกินดีของประชาชน
Robertson บอกว่าถึงแม้เศรษฐกิจในประเทศจะเป็นไปได้ด้วยดี คาดว่าจะเติบโตอีก 2.5 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ และ 2.9 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า แต่ยังมีประชาชนจำนวนมากที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง อัตราการมีบ้านต่ำสุดในรอบ 60 ปี การฆ่าตัวตายที่มากขึ้น และปัญหาคนเร่ร่อนกับเงินสนับสนุนค่าอาหารการกินที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับเขา หมายถึงผู้คนใช้ชีวิตอย่างมีจุดหมาย สมดุล และมีความหมาย และต้องสามารถทำทั้ง 3 สิ่งนี้ได้ด้วย
“จริงอยู่ ที่ในอดีตและตอนนี้ เรามีการเติบโตของ GDP ที่ทำให้ประเทศอื่นๆ ในโลกต้องอิจฉา แต่สำหรับประชาชนของเราจำนวนมาก การเติบโตของ GDP นั้น ไม่ได้ทำให้พวกเขามีมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น หรือมีโอกาสมากขึ้นเลย พวกเขาถามว่าเราจะเป็นดาวได้อย่างไร ถ้ายังมีปัญหาคนเร่ร่อนไร้บ้าน ความยากจนในเด็ก และความไม่เท่าเทียม ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ” Robertson กล่าว
ฝ่ายตรงข้ามอย่างพรรคแห่งชาติ ไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้เท่าไหร่ และบอกว่ามันออกจะไกลเกินเอื้อมสำหรับชาวนิวซีแลนด์ พร้อมแย้งว่าสิ่งที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคือโครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณะต่างหาก
ในกรณีศึกษาของประเทศภูฏาน พวกเขาก็เคยนำดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือ Gross National Happiness มาใช้ชี้วัดปัจจัยต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลแก่รัฐบาลในการออกแบบนโยบาย แต่ภูฏานก็ยังเผชิญปัญหาด้านการพัฒนา และอัตราว่างงานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ แถมยังแพ้ฟินแลนด์ในการจัดอันดับประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลกของยูเอ็น ไปถึง 96 อันดับ
ประเทศอังกฤษเอง ก็มีแนวทางวัดอัตราความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชาติจากปัจจัยต่างๆ เช่นกัน แต่นิวซีแลนด์ก็ยังคงเป็นประเทศแรกในตะวันตก ที่นำงบประมาณทั้งหมดมาแก้ไขตรงนี้ และชี้นำกระทรวงต่างๆ ให้ออกแบบนโยบายมาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
เรื่องนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่น่าสนใจของประเทศนิวซีแลนด์ คราวนี้ก็ต้องมารอดูกันต่อไป ว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้จริงตามที่คิดไว้หรือไม่
อ้างอิงจาก
https://www.ons.gov.uk/peoplepopulationandcommunity/wellbeing
#Brief #TheMATTER