ถ้าเก่งกว่าประชาชนไม่ได้ ก็ต้องให้ประชาชนทำให้แทน รัฐบาลไม่ได้เหนือกว่าประชาชน และต้องฟังเสียงประชาชน เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ไปด้วยกัน นี่คือประเด็นสำคัญจาก Keynote ของ ออเดรย์ ถัง บนงาน Techsauce 2019
รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลไต้หวัน ออเดรย์ ถัง คือหนึ่งใน speaker ที่ผู้เข้าร่วมงาน Techsauce รอติดตามการพูดบนเวทีมากที่สุดคนหนึ่ง ในงานที่ผ่านมา ออเดรย์ได้พูดถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้รัฐบาลมีความโปร่งใส
ออเดรย์ มาร่วมงาน Techsauce ประจำปีนี้ในช่วง Keynote Speech ด้วยหัวข้อ ‘Giving Voices the Power to Change Nations: AI, Democracy, and Social Listening’
ในช่วงหนึ่ง ออเดรย์นำเสนอตัวอย่างโปรเจ็กต์ที่รัฐบาลไต้หวันได้ทำอยู่ นั่นคือการสร้างแพลตฟอร์มให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปรายงานคุณภาพอากาศ และค่ามลพิษ PM2.5 ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในช่องทางที่รัฐบาลได้พยายามสร้างความร่วมมือกับภาคประชาชน
ออดเดรย์ เล่าว่า เคยมีคนถามเธอถึงการเปิดให้ประชาชนเข้าไปใส่ข้อมูลเรื่องนี้เอง ไม่ใช่รัฐทำ มันจะน่าเชื่อถือได้เหรอ แต่ออเดรย์กลับเชื่อว่า นี่คือสิ่งที่ถูกต้องแล้วนะ เพราะประชาชนไม่จำเป็นต้องไว้ใจรัฐบาล แต่รัฐบาลต่างหากที่ต้องไว้ใจประชาชน
แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็เชื่อว่า ประชาชนจะสามารถเชื่อใจรัฐบาลได้ หรือรัฐบาลสามารถได้รับความวางใจจากประชาชนได้เหมือน ในกรณีที่รัฐบาลสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ดีพอแล้วว่าคู่ควรกับความไว้วางใจนั้น
ออเดรย์ ได้เล่าถึงวิธีการทำงานของตัวเองในฐานะรัฐมนตรีว่า ตั้งแต่ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีดิจิทัล เธอได้เปิดออฟฟิศให้กับทุกคนได้สามารถเดินเข้ามาพูดคุย และแลกเปลี่ยนไอเดียการทำงานได้อย่างเท่าเทียม บนฐานคิดที่ว่ารัฐบาลไม่ได้มีสถานะเหนือกว่าประชาชนแต่อย่างใด
เธอเชื่อว่า แม้ประชาธิปไตยจะทำให้ผู้คนเกิดความขัดแย้งกันในด้านความเห็น (ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติตามระบบนี้) หากแต่ในยุคปัจจุบัน รัฐบาลควรมีบทบาทในฐานะตัวกลางที่เชื่อมโยงเอาผู้คนที่คิดเห็นแตกต่างกัน หรืออยู่กันคนละจุดยืนได้มาแลกเปลี่ยนความรู้และความสามารถซึ่งกันและกันได้
ปัจจัยสำคัญคือต้องหาให้เจอว่า แต่ละคนนั้นเชื่อหรือมองเห็นในเรื่องไหนที่ตรงกันบ้าง แล้วใช้จุดร่วมนั้นเชื่อมต่อให้แต่ละกลุ่มสามารถทำงานร่วมกันได้ โดยรัฐบาลไต้หวันจะทำหน้าที่เป็นทั้งตัวกลางและแพลตฟอร์มให้กับทุกคน
สิ่งที่ออเดรย์และรัฐบาลไต้หวันทำโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยนั้นก็มีหลายอย่าง เช่น การสร้างเว็บไซต์ sandbox.org.tw ที่ให้ประชาชนเข้าไปเสนอไอเดียหรือโปรเจ็กต์ที่อยากทำได้และเปิดให้คนอื่นๆ เข้ามาคอมเมนต์ หรือช่วยกันต่อยอดให้ไอเดียตั้งต้นนั้นออกมาดีที่สุด
นอกจากนั้น ยังมีโปรเจ็กต์อย่าง G0V (G – Zero -V) ที่เปิดให้ประชาชน ได้สร้าง Shadow Website คู่ขนานไปกับเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐบาล พูดอีกแบบคือให้ประชาชนทำเว็บไซต์หน่วยงานรัฐ แข่งกับรัฐเองไปเลย ออเดรย์บอกว่า ถ้าคุณเก่งกว่าประชาชนไม่ได้ คุณก็ต้องให้ประชาชนทำให้คุณ
“If you can’t beat them, join them” รัฐมนตรีดิจิทัลไต้หวัน กล่าว
อีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่ออเดรย์หยิบมาบอกเล่าให้ฟังคือการสร้าง จักรยานสามล้อแบบอัตโนมัติที่เธอสร้างให้กับชุมชนได้ใช้งาน “เราเรียกมันว่า ‘การอยู่ร่วมกัน’ เพื่อลดความหวาดกลัวเรื่องเทคโนโลยีในหมู่ผู้คน”
ตลอดหลายวันมานี้ ออเดรย์ได้เข้าร่วมในเวทีด้านสื่อและเทคโนโลยีต่างๆ ในไทยหลายเวที เธอย้ำเสมอๆ ถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความโปร่งใส ใช้เทคโนโลยีเพื่อรับฟังเสียงของประชาชน เพื่อนำไปสู่การเป็นรัฐบาลที่สามารถตรวจสอบได้
รวมทั้งเชื่อว่า เทคโนโลยีจะเป็นส่วนช่วยส่งเสริมประชาธิปไตย และความหลากหลายในสังคมได้ด้วยเช่นกัน
ในงานเดียวกันนี้ The MATTER ยังได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ Linda Liukas โปรแกรมเมอร์และนักวาดภาพชาวฟินแลนด์ ผู้สอน Coding ด้วยหนังสือภาพอีกด้วย อ่านบทความได้ที่ : https://thematter.co/pulse/interview-with-linda-liukas/79023
#Brief #Techsauce #TSGS19 #TheMATTER