หัวใจคนเรามีลักษณะที่แตกต่างกัน นั่นเลยทำให้ใช้เป็นเครื่องมือในการระบุตัวตนคนได้ กระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ จึงได้พัฒนาเครื่องมือตรวจจับการเต้นของหัวใจจากระยะไกล เพื่อใช้ในกิจการกองทัพ และอาจจะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้ด้วย
Jetson คือชื่ออุปกรณ์ใหม่ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา โดยใช้หลักการจากการใช้รังสีอินฟราเรด ที่ปกติก็ใช้ตรวจการเต้นของหัวใจของผู้ป่วยอยู่แล้วมาพัฒนาต่อ ซึ่งตอนนี้สามารถใช้ระบุตัวตนคนที่อยู่ห่างออกไปในระยะ 200 เมตรได้ และมีความแม่นยำถึง 95% แถมคาดการณ์ว่า ถ้าใช้เลเซอร์ประเภทอื่นๆ ที่คุณภาพสูงกว่า ก็จะทำได้ในระยะที่ไกลขึ้น
อย่างไรก็ตาม Jetson ยังมีข้อจำกัดว่ายังไม่สามารถยิงเลเซอร์ทะลุเสื้อผ้าที่หนามากๆ ได้ และเป้าหมายต้องอยู่กับที่เท่านั้น (ห้ามขยับ) แถมต้องการฐานข้อมูลการเต้นของหัวใจมากขึ้น เพื่อวิเคราะห์ผลที่แม่นยำและครอบคลุม
ปัจจุบัน ประชากรทั่วโลกก็ถูกเก็บพวกข้อมูลชีวภาพกันอยู่เกือบตลอดเวลาอยู่แล้ว และมีเทคโนโลยีอื่นๆ อีกที่ใช้ในการระบุตัวตน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจจับใบหน้า รอยนิ้วมือ หรือท่าเดิน แต่ทุกเทคโนโลยีก็ยังคงมีข้อจำกัดเฉพาะตัวอยู่ เป็นไปได้ว่าหากนำมาประกอบกัน ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในทางทหารเท่านั้น
อ้างอิงจาก
#Brief #TheMATTER