“วัยรุ่นไทย 3% มีความเสี่ยงจะเป็นภาวะซึมเศร้า”
คือข้อมูลจาก พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ที่แม้จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งอยู่ระหว่าง 10-15% แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะความเครียดของวัยรุ่นหากไม่ได้รับการรักษา สุ่มเสี่ยงจะนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ (แม้อัตราการฆ่าตัวตายจะเกิดกับวัยชรามากกว่าวัยรุ่น)
“ที่สำคัญคือวัยรุ่นที่ซึมเศร้ามักจะดูออกได้ยากกว่า เพราะมันแสดงอาการก้าวร้าว หรือหันไปหาสิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจ เพื่อหนีจากโลกความเป็นจริง เช่น ติดเกมส์หรือเซ็กซ์”
พญ.ดุษฎีกล่าวว่า วิธีการรับมือกับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าที่ดีที่สุดคือการรับฟังและชวนเขามารับการรักษา อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน พ.ร.บ.สุขภาพจิต ยังมีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับการรักษาของวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะถ้าจะมารักษาต้องพาผู้ปกครองมาด้วย ซึ่งผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบแล้ว และจะนำไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเพื่อหาวิธีแก้ไข
ปัจจุบัน มีหลายๆ วิธีที่จะช่วยเหลือวัยรุ่นที่เครียดจนอาจเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าให้ได้รับการรักษา เช่น โทรมาปรึกษาที่สายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต ซึ่งปัจจุบันสามารถให้บริการคนทุกวัยที่โทรเข้ามาได้เพียง 200,000 สาย จากที่โทรเข้ามา 800,000 สาย หรือแค่หนึ่งในสี่ จึงมีการนำ AI เข้ามาช่วยในการให้คำปรึกษาผ่าน chat bot โดยจะประเมินความเร่งด่วนของผู้ที่ต้องการรับบริการ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะคอขวด
อีกหนึ่งวิธีคือการใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้คำปรึกษา หนึ่งในแอพลิเคชั่นที่น่าสนใจ คือ ‘โครงการกำแพงพักใจ’ (Wall of Sharing) ของ Ooca ที่เปิดให้นิสิตนักศึกษาเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด ผ่านทางออนไลน์ได้ฟรี โดยสัปดาห์ก่อน กรมสุขภาพจิตเพิ่งลงนามใน MOU จะทำงานร่วมกับ Ooca ในการผลักดันโครงการนี้ให้เข้าถึงนิสิตนักศึกษาได้มากขึ้น จากปัจจุบันมี 4 มหาวิทยาลัยที่เปิดให้ใช้งานแล้ว
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า วัยรุ่นไทยอายุระหว่าง 13-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ราว 300 รายต่อปี การค้นหาหนทางช่วยเหลือเด็กและวัยรุ่นให้มีสุขภาพจิตดีขึ้น จึงเป็นภารกิจที่สำคัญของหน่วยงาน
ทั้งนี้ วัยรุ่นที่โทรศัพท์เข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตที่ 1323 ส่วนใหญ่มักมาจาก 5 สาเหตุ 1.ภาวะเครียด/กดดัน 2.ความรัก 3.เพศและยาเสพติด 4.ภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ทำร้ายคนอื่น และ 5.ครอบครัวไม่เข้าใจ
อ้างอิงจาก
https://www.hfocus.org/content/2019/07/17382
https://www.wallofsharing.com/
#Brief #TheMATTER