ไปเที่ยวกันทีไร คุณพ่อ คุณแม่จะแอบถ่ายรูปเราแล้วก็เอาไปโพสต์ลงโซเชียลมีเดียแบบเงียบๆ หรือเราจะรู้ตัวอีกที ก็อ้าว มีรูปเราอยู่ในไลน์กรุ๊ปครอบครัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งบางทีก็อยากจะบอกพ่อแม่ว่า ตอนนี้สภาพเราไม่พร้อมเท่าไหร่เลยจ้า (ร้องไห้)
ในต่างประเทศมีคำว่า ‘Sharenting’ ที่ผสมกันระหว่างคำว่า Parenting (การเลี้ยงดูลูก) กับ Share (แชร์สิ่งต่างๆ ลงในโซเชียลมีเดีย) เมื่อรวมกันแล้วคำนี้จะถูกใช้ในความหมายว่า การที่ผู้ปกครองแชร์รูปลูกๆ ของตัวเองลงในโซเชียลมีเดียในปริมาณที่มากๆ และเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
เอาเข้าจริง ความรักและความเอ็นดูของพ่อแม่ที่มีต่อลูกๆ นั้นเป็นสิ่งที่มีค่ามากๆ อยู่แล้วล่ะเนอะ ซึ่งหลายๆ ครั้งการถ่ายรูปลูกๆ แล้วแชร์ต่อไปให้เพื่อนๆ ดูในโซเชียลมีเดีย มันก็หมายถึงความภูมิใจ และความรักที่พ่อแม่มีให้กับลูกเป็นหัวใจสำคัญอยู่แล้ว อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องขีดเส้นใต้กันเลย
อย่างไรก็ดี ช่วงหลังมานี้เริ่มมีเสียงกังวลถึงเรื่อง Sharenting กันอยู่เรื่อยๆ ทั้งความที่เหล่าลูกๆ เองก็ไม่ค่อยยินยอมเท่าไหร่ อาจจะด้วยอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่พร้อมออกกล้อง และไม่อยากถูกถ่ายรูปโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว
ในคลิปวิดีโอหนึ่งของ The New York Times ได้พาแม่ลูกหลายๆ คู่มานั่งพูดคุยกันถึงมุมมองเรื่อง Sharenting ได้อย่างน่าสนใจ
“มันคือเรื่องใหญ่อะไรกันหรอ ก็เพราะหนูน่ารักมากๆ แลัวมันก็เป็นช่วงเวลาที่ดีนะ” แม่คนหนึ่งถาม “ก็เพราะแม่ไม่ถามหนูก่อนไงคะ” เด็กสาววัย 7 ขวบ ตอบคุณแม่ เธอบอกด้วยว่า ถ้าอยากคุยกันจริงๆ เราก็เฟซไทม์คุยได้เหมือนกันนะ
เรื่องภาพลักษณ์บนโลกออนไลน์เองก็สำคัญไม่น้อย—งานวิจัยเรื่อง ‘Sharenting: Parental adoration or public humiliation?’ พบว่าเมื่อวัยรุ่นหลายคน ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์บนโลกออนไลน์ของตัวเอง แต่การโดน Sharenting บ่อยๆ ภาพของลูกในมุมของพ่อแม่ กับภาพที่ลูกๆ อยากเป็นเองจริงๆ มันอาจขัดแย้งกันก็ได้ และอาจนำไปสู่ความรู้สึกอายๆ เขินๆ ตลอดจนความโกรธระหว่างกันได้
ขณะเดียวกัน เรื่อง Sharenting เองก็มีประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวด้วย บางทีข้อมูลส่วนตัวของลูกอาจหลุดไปโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ และอาจกลายเป็นปัญหาเรื่องการสวมรอยตัวตนในอนาคต
สิ่งที่นักวิจัยแนะนำก็คือ ถ้าจะให้ดีนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะต้องถามลูกๆ ก่อน และถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะเลี่ยงโพสต์เรื่องราวที่น่าอับอาย หรือขำขันที่อาจติดตัวไปกับลูกๆ ไปจนถึงวัยที่เขาเป็นผู้ใหญ่
สิ่งที่โพสต์ลงไปในโซเชียลมีเดีย มันก็อาจจะอยู่ในนั้นนานเกินกว่าที่พ่อแม่คิด หรือแม้จะเป็นเพียงรูปเดียว หรือคลิปวิดีโอสั้นๆ แต่มันก็อาจกลายเป็นสิ่งติดตัวลูกๆ ไปอีกนานโดยที่พวกเขาไม่ชอบมันก็ได้นะ
อ้างอิงจาก
https://www.nytimes.com/2019/06/05/opinion/children-internet-privacy.html
https://www.facebook.com/nytopinion/videos/2353692481536117/?v=2353692481536117
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0190740918309952
#Brief #TheMATTER