ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และช่องว่างระหว่างเด็กที่เข้าถึงและไม่เข้าถึงโอกาสในการเรียน เป็นสิ่งที่สังคมไทยเราถกเถียงกันมานานหลายปี ดูเหมือนว่าประเด็นนี้จะกลับมาให้เราพูดถึงกันอีกครั้ง กับแนวคิดเรื่องโรงเรียน Elite ของกระทรวงศึกษาธิการ
ประเด็นก็คือเมื่อเร็วๆ นี้ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เอกชัย กี่สุขพันธ์ บอกว่า รัฐมนตรีศึกษาธิการ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อยากสร้างโรงเรียนอีลิท (Elite) หรือที่แปลว่า ‘ชนชั้นนำ’ ที่จะคัดกรองเฉพาะเด็กที่เรียนเก่งหรือเป็นเด็กหัวกะทิเข้าเรียนเท่านั้น
ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะจาก กพฐ. ที่อยากให้มีโรงเรียนรูปแบบที่รับนักเรียนที่มาจากการสอบเข้าแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ คือเป็นการคัดกรองเด็กที่เรียนเก่งเข้าเรียน
อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้น่าจะอยู่ในระยะเริ่มต้น อย่างที่ประธาน กพฐ. เองก็ยอมรับว่า ยังคงมีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการที่เป็นห่วงว่า โรงเรียน Elite นั้นจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมให้มากขึ้นกว่าเดิม
ประธาน กพฐ. บอกด้วยว่า ตอนนี้ยังมีเวลาอยู่อีกราวๆ ครึ่งปีที่จะพิจารณาแนวคิดนี้กันต่อไป
ด้านกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งเคลื่อนไหวเรื่องปัญหาการศึกษาของเด็กนักเรียนได้ตั้งข้อสังเกตว่า โรงเรียน Elite แบบนี้ตอกย้ำถึงความไม่เท่าเทียมด้วยการแบ่งชนชั้นทางการศึกษา
ก่อนหน้านี้ไม่นาน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ โดยย้ำถึงเป้าหมายที่กระทรวงศึกษาธิการในยุคนี้จะแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ได้ และจะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นทางช่วยให้เด็กในชนทบทเข้าถึงการศึกษาเหมือนกับเด็กในเมือง
มองกันอย่างไรต่อแนวคิดนี้ โรงเรียน Elite จะกลายเป็นปัญหา หรือพัฒนาการศึกษาไทยมากกว่ากัน? มาแสดงความคิดเห็นกันได้นะ
อ้างอิงจาก
https://www.dailynews.co.th/education/726076
https://www.thaipost.net/main/detail/43164
#Brief #TheMATTER