การเขียนธีสิส ความทุกข์ยากลำบากของใครหลายคน ในช่วงเรียนปริญญา ที่กว่าจะเขียนจบมาได้ต่างผ่านความยากลำบาก ที่แค่เขียนของภาษาของตัวเองก็ยากแล้ว แต่ล่าสุดมีนักศึกษาปริญญาเอกในเปรู ที่เขียนธีสิสออกมา ด้วยการใช้ภาษาท้องถิ่นของเปรู
Roxana Quispe Collantes คือนักศึกษาปริญญาเอกในมหาวิทยายาลัย San Marcos ที่เก่าแก่ในเปรู ที่สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นคนแรกในการเขียนวิทยานิพนธ์เพื่อศึกษาวรรณคดีเปรู และลาตินอเมริกา ใน ‘ภาษาเกชัว’ ภาษาพื้นเมืองท้องถิ่นของอาณาจักรอินคา โดยเธอหวังว่างานที่ใช้ภาษาท้องถิ่นของเธอ จะทำให้คนหันมาสนใจภาษาพื้นเมือง และช่วยให้ภาษายังมีชีวิตต่อไป
Collantes เริ่มนำเสนอธีสิสของเธอ ด้วยพิธีขอบคุณพระเจ้าแบบดั้งเดิม โดยใช้ใบโคคา และชิชา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำจากข้าวโพด เพื่อนำเสนอการศึกษาบทกวี ‘Yawar Para’ (Blood rain) บทกวีของ Alencastre Gutiérrez กวีแห่งศตวรรษที่ 20 ซึ่งเพื่อตรวจสอบ คำและวลีในกวีบทนี้ Collantes ใช้เวลา 7 ปีเดินทางไปยังชุมชนห่างไกลในภูมิภาค Canas ที่เป็นภูเขา
ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังเลือกตอบคำถามจากอาจารย์ และผู้ตรวจงานของเธอด้วยภาษาเกชัว ตลอด 2 ชั่วโมงในการนำเสนอด้วย โดยเธอให้สัมภาษณ์ว่า “มันเป็นเส้นทางที่ยาวนาน แต่ก็คุ้มค่าแล้ว” และยังเล่าว่า เธอยังหวังว่างานนี้ จะช่วยสร้างคุณค่าของภาษานี้อีกครั้ง กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่สนใจ “มันสำคัญมากที่เราต้องช่วยให้ภาษาดั้งเดิมของเราต่อไปได้”
Gonzalo Espino ที่ปรึกษาปริญญาเอกของ Collantes พูดถึงงานชิ้นนี้ว่า เป็นการนำเสนอที่เป็นสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ เพราะ “ภาษานี้เป็นการแสดงถึงคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนมากที่สุดในโลก ซึ่งคือแถบแอนดีส ที่ครั้งนึงเคยถูกเรียกว่าอินเดียนแดง ภาษาและวัฒนธรรมของพวกเขาได้รับการพิสูจน์แล้ว”
ปัจจุบัน ภาษาเกชัว เป็นภาษาท้องถิ่นที่ใช้ในอเมริกาใต้ ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในแถบแอนดีส และยังมีคนพูดภาษานี้อยู่ประมาณ 8 ล้านคน ทั้งที่ผ่านมา เปรูก็ได้ใช้ความพยายามในการจดะเบียนชื่อของชนพื้นเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ UN ที่ประกาศให้ปี 2019 เป็นปีแห่งภาษาท้องถิ่นสากล เพื่อฟื้นฟูภาษาพื้นเมืองที่มีความเสี่ยงจะหายไปกว่า 2,680 ภาษาทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้ มี 21 ภาษาที่เป็นภาษาท้องถิ่นเปรู
อ้างอิงจาก
https://remezcla.com/culture/roxana-quispe-collante-quechua-phd/
#Brief #TheMATTER