ปีนี้กระแสของคำว่า ข่าวปลอม (Fake news) ถูกพูดถึงอย่างมากในบ้านเรา แถมวันนี้ (1 ธันวาคม) เป็นวันครบรอบ 1 เดือนหลังจากกระทรวงดิจิทัลฯ เปิดตัวศูนย์ตรวจข่าวปลอมขึ้นมา แต่ข่าวปลอม ไม่ได้มีกระแสตื่นตัวแค่ในไทยเท่านั้น ล่าสุด เฟซบุ๊กประกาศเตือนให้ผู้ใช้งานแก้ไขข้อมูลในโพสต์ หลังจากรัฐบาลสิงคโปร์ร้องเรียนว่า ข้อมูลที่เผยแพร่เหล่านั้น ไม่ใช่ความจริง ซึ่งผิดต่อกฎหมายต่อต้านข่าวปลอมของสิงคโปร์
เฟซบุ๊กแปะประกาศไว้ด้านล่างของโพสต์ที่ได้รับแจ้ง พร้อมข้อความว่า ‘เฟซบุ๊กได้รับการร้องเรียนให้บอกคุณว่า รัฐบาลสิงคโปร์แจ้งว่าโพสต์นี้มีข้อมูลเท็จ’ ซึ่งมีเพียงกลุ่มผู้ใช้งานในสิงคโปร์เท่านั้น ที่เห็นประกาศดังกล่าว
โพสต์ที่รัฐบาลสิงคโปร์แจ้งว่ามีข้อมูลเท็จ คือโพสต์ของ อเล็กซ์ ตัน (Alex Tan) บรรณาธิการของ the States Times Review ซึ่งกล่าวถึงการจับกุมผู้แจ้งเบาะแสและข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งในสิงคโปร์ โดยรัฐบาลยืนยันว่า ไม่มีการจับกุมตามที่ตันกล่าวอ้าง และสั่งให้ตันแก้ไขข้อความในโพสต์นั้นเสีย แต่ตันกฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว
“The State Times Review และบรรณาธิการที่ตอนนี้เป็นพลเมืองของออสเตรเลีย จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใดๆ จากรัฐบาลต่างประเทศ อย่างเกาหลีเหนือ หรือสิงคโปร์” ข้อความที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ของ The State Times Review
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โพสต์เฟซบุ๊กของ แบรด บาวเยอร์ (Brad Bowyer) นักการเมืองพรรฝ่ายค้านของสิงคโปร์ ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการปกครองของกองทุนความมั่งคั่งของรัฐ และการตัดสินใจเรื่องลงทุนของพวกเขา ก็ถูกรัฐบาลสิงคโปร์สั่งให้แก้ไขข้อความด้วยเช่นกัน ซึ่งบาวเยอร์เองก็ไม่มีปัญหาในการทำตามที่รัฐบาลสั่ง แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ไม่ยอมรับว่ามีข้อมูลเท็จใดๆ ในข้อความที่เขาโพสต์
ทั้งสองกรณี เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์เดียวกัน และถือเป็นครั้งแรกของการใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการปกป้องจากการหลอกลวงและชักจูงทางออนไลน์ (The Protection from Online Falsehoods and Manipulation Act) ที่เพิ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
พระราชบัญญัติว่าด้วยการปกป้องจากการหลอกลวงและชักจูงทางออนไลน์ กำหนดให้การเผยแพร่ข้อมูลเท็จบนออนไลน์ ที่อาจกระทบกับประโยชน์สาธารณะ ความสงบเรียบร้อยของสังคม และความสัมพันธ์กับประเทศอื่น มีความผิด ทั้งยังมีโทษปรับสูงสุด 7.4 หมื่นดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 1.6 ล้านบาท) และจำคุกสูงสุด 10 ปี
ขณะเดียวกัน สมาพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชีย (Asia Internet Coalition: AIC) นิยามให้กฎหมายนี้ เป็นกฎที่กว้างและคลุมเครือที่สุดในปัจจุบัน ทั้งยังมีกระแสวิพากย์วิจารณ์ว่า พ.ร.บ.นี้ จะไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตแค่ในสิงค์โปร์เท่านั้น แต่จะกระทบถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
อ้างอิงจาก
https://www.straitstimes.com/singapore/man-refuses-to-obey-correction-order-under-fake-news-law
https://thematter.co/social/tackle-fake-news-around-the-world/82776
https://www.facebook.com/SGBelieves/posts/1445137578972291
#Brief #TheMATTER