ระยะหลัง ผู้มีอำนาจในไทยดูเหมือนจะตื่นตัวกับปัญหา fake news ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกระทรวงดิจิทัลฯ ที่รัฐมนตรีคนใหม่ประกาศเดินหน้าจัดตั้งศูนย์ต่อต้านเฟกนิวส์ (fake news center) เพื่อรับมือกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ
ว่าแต่ชาติอื่นๆ ในโลกใบนี้ เขารับมือกับปัญหาข่าวปลอม/ข่าวลวงนี้อย่างไรบ้าง The MATTER ชวนพาทุกคนบินไปดูรอบๆ โลกใบนี้กัน
Singapore – ออกกฎหมายโทษรุนแรง
- ขึ้นคำเตือน ‘ข้อมูลปลอม’
- ลบคอมเม้นต์ที่อาจกระทบความสงบเรียบร้อย
- กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืน จำคุกสูงสุด 10 ปี
สิงคโปร์ ประเทศพัฒนาแล้ว แต่เสรีภาพของสื่อมวลชนถูกคุมเข้มจนอยู่ในลำดับท้ายๆ 150 จากทั้งหมด 180 ของโลก ใน World Press Freedom Index เลือกใช้ไม้แข็งอย่างการออกกฎหมายที่มีโทษรุนแรงต่อผู้ร่วมเผยแพร่ fake news
กฎหมายที่ว่า มีชื่อว่า The Protection from Online Falsehoods and Manipulation Act เพิ่งออกมาในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง กำหนดให้การเผยแพร่ข้อมูลเท็จบนออนไลน์ ที่อาจกระทบกับประโยชน์สาธารณะ ความสงบเรียบร้อยของสังคม และความสัมพันธ์กับประเทศอื่น มีความผิดทั้งโทษปรับสูงสุด 7.4 หมื่นดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 1.6 ล้านบาท) และจำคุกสูงสุด 10 ปี
นอกจากนี้ยังบังคับให้แพล็ตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ต้องจำกัดการเข้าถึงข้อมูลที่รัฐระบุว่าปลอมโดยเร็ว ขึ้นข้อมูลที่ถูกต้องข้างๆ และลบออกไปในท้ายที่สุด พร้อมกำหนดโทษของการไม่ทำตาม ทั้งปรับและจำคุกด้วย
กฎหมายนี้ถูกวิจารณ์ว่าต้องการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (free speech)
Germany – เน้นกำจัด hate speech
- เน้นควบคุมเนื้อหา hate speech
- ให้ลบข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ใน 24 ชั่วโมง
- ฝ่าฝืนโทษปรับสูงถึง 50 ล้านยูโร!
เยอรมันออกกฎหมายต่อต้าน fake news ตั้งแต่ปี ค.ศ.2018 แต่นอกจากใช้บังคับกับเนื้อหาปลอม ภาพโป๊เด็ก ภาพเหตุการณ์รุนแรง ยังเน้นการบังคับใช้กับเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) เช่น การเผยแพร่แนวคิดสนับสนุนลัทธิ Nazi
กฎหมายดังกล่าวมีชื่อว่า Netzwerkdurchsetzungsgesetz (ชื่อย่อ NetzDG) บังคับให้แพล็ตฟอร์มออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ เรดดิต วีเค ทัมเบลอร์ และเว็บไซต์ต่างๆ ต้องลบข้อมูลที่ถูกระบุว่าผิดกฎหมายฉบับนี้ภายใน 24 ชั่วโมง หากไม่อยากเสียงกับโทษปรับสูงถึง 50 ล้านยูโร (1.7 พันล้านบาท!) – รวมไปถึงบล็อกไม่ให้เข้าถึงได้
อย่างไรก็ตาม หลังออกมาใช้บังคับเกือบ 2 ปี ก็เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายฉบับนี้แล้ว หลังหลายฝ่ายมองว่าทำให้เนื้อหาออนไลน์ถูกบล็อกมากเกินไป
(ด้วยความที่กฎหมายนี้เน้นไปที่ hate speech ทำให้บางครั้งถูกเรียกว่า anti-hate speech law)
France – คุมเฉพาะช่วงเลือกตั้ง
- บังคับใช้เฉพาะช่วงเลือกตั้ง
- ให้ลบหรือบล็อก fake news
- ต้องเปิดว่าใครซื้อโฆษณา-ใช้เงินเท่าใด
ฝรั่งเศสออกกฎหมายมาช่วงปลายปี ค.ศ.2018 ให้นิยามของ fake news ว่า หมายถึง “การใช้ความเท็จมากล่าวหาหรือใส่ความ หรือรายงานข่าวที่อ้างอิงข้อมูลผิดๆ โดยเจตนาเพื่อเปลี่ยนแปลงผลการลงคะแนนอันบริสุทธิ์” แค่ดูนิยามก็ชัดเจนแล้วว่า กฎหมายนี้มุ่งแสดงอิทธิฤทธิ์เฉพาะช่วงเลือกตั้งเท่านั้น
กฎหมายนี้ให้อำนาจผู้เกี่ยวข้องลบข้อมูลเท็จหรือบล็อกเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อมูลนั้นๆ ในช่วงระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะช่วงเวลา 3 เดือนก่อนถึงวันลงคะแนน นอกจากนี้ ยังบังคับให้แพล็ตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูบ แสดงความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยว่า โฆษณาต่างๆ บนแพล็ตฟอร์มใครเป็นผู้ซื้อและด้วยเงินเท่าใด
นอกจากนี้ ยังให้อำนาจในการเพิกถอนใบอนุญาตของทีวีหรือวิทยุที่ “อยู่ภายใต้อิทธิของต่างชาติ” และเข้ามาเผยแพร่ข้อมูลแบบผิดๆ
Finland – ใช้ระบบการศึกษา
- บรรจุหลักสูตรคิดวิเคราะห์ใน รร.ประถม-มัธยม
- ร่วมมือกับองค์กร fact-checking
- ให้นักเรียนเรียนรู้ว่า fake news ทำงานอย่างไร
ฟินแลนด์ใช้ระบบการศึกษาที่หลายๆ ประเทศยกย่องในการต่อสู้กับ fake news อย่างได้ผล โดยดัชนีการรู้เท่าทันสื่อขององค์กร Open Society Institute พบว่า ฟินแลนด์เป็นชาติที่ผู้คนรู้เท่าทันสื่อมากที่สุดในทวีปยุโรป (ได้ 76 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนน)
แล้วระบบการศึกษาของฟินแลนด์ช่วยให้คนรู้ทัน fake news ได้อย่างไร?
ในหลักสูตรการศึกษาของฟินแลนด์ที่ออกมาในปี ค.ศ.2016 มีการกำหนดให้สอนเรื่องการคิดวิเคราะห์ โดยเอาตัวอย่างการใช้ข่าวไม่ถูกต้อง (disinformation) ในการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาและหลายชาติในยุโรปมาใช้ นอกจากนี้ ยังให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่าง Faaktabaari ทำเครื่องมือมาใช้ในการเรียนการสอนในห้องเรียนตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมัธยมด้วย โดยใช้แบบฝึกหัดให้นักเรียนเรียนรู้เรื่องของคลิกเบต ทดสอบว่าการให้ข้อมูลผิดพลาด (misinformation) ส่งผลกระทบต่ออารมณ์อย่างไร ไปจนถึงกระทั่งลองให้น้องๆ หนูๆ เขียน fake news ขึ้นมาด้วยตัวเอง
จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศก็มีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป บางประเทศใช้ไม้แข็งออกกฎหมายโทษรุนแรงมาก บางประเทศเน้นกำจัดข้อความที่แสดงความมุ่งร้าย บางประเทศมุ่งควบคุมเฉพาะบางช่วงเวลา และบางประเทศเลือกใช้วิธีติดอาวุธทางความคิดให้กับประชาชน ให้มีภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกัน fake news
อ้างอิงข้อมูลจาก
– CNN
– Reuters [1] [2]
– The Straits Times
– Poynter