เทคโนโลยีทำให้สังคมก้าวหน้า แต่ถ้าเทคโนโลยีถูกมาใช้เพื่อสอดส่องผู้คน ทั้งการจดจำตัวตน แสกนใบหน้า จะถือว่าปลอดภัยสำหรับความเป็นส่วนตัวหรือไม่?
จีนบังคับใช้กฎหมายให้ผู้ลงทะเบียนซิมการ์ดใหม่ต้องยอมรับระบบจดจำใบหน้า โดยให้เหตุผลในการบังคับใช้กฎหมายนี้ว่า เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ไซเบอร์ กฏหมายใหม่จะบังคับเฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนซิมการ์ดใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมเท่านั้น
เรื่องนี้ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลจีนได้เรียกร้องให้บริษัทโทรคมนาคมนำ AI และวิธีการทางเทคนิคอื่นๆ มาใช้ในการตรวจสอบตัวตนของผู้ที่ลงทะเบียนซิมการ์ดใหม่
ระบบจดจำใบหน้าถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในจีน ทั้งในโรงเรียน สถานที่จัดคอนเสิร์ต หรือขนส่งสาธารณะ ซึ่งความก้าวหน้าของจีนในการนำระบบจดจำใบหน้ามาใช้ ยิ่งทำให้คนเกิดความกังวลในเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษย์มากขึ้น
เคนเนธ รอท (Kenneth Roth) นักสิทธิมนุษยชน ออกมาวิจารณ์การบังคับให้ผู้ที่ลงทะเบียนซิมการ์ดใหม่ต้องยอมรับระบบจดจำใบหน้าของจีน โดยมองว่ามันเป็นการขยายการสอดส่องประชาชนแบบดิสโทเปีย
ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนได้มีความพยายามในการระบุตัวตนของคนบนโลกออนไลน์ โดยการบังคับใช้นโยบายการสมัครแอคเคาท์ด้วยชื่อจริง ให้คนเชื่อมต่อบัญชีในโลกออนไลน์กับเลขบัตรประชาชน
นอกจากนี้ยังมีการตั้งระบบ social credit system เพื่อเป็นมาตราฐานในการประเมินประชาชน โดยคะแนนความประพฤติของประชาชนทั้งหมดจะถูกจัดเก็บในฐานข้อมูลของรัฐบาล และยังมีแผนที่จะติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วประเทศ ให้ได้ประมาณ 400 ล้านตัวภายในปี พ.ศ.2563 ด้วย ซึ่งตอนนี้ติดตั้งไปแล้วประมาณ 170 ล้านตัว
อ้างอิงจาก
https://edition.cnn.com/2019/12/02/tech/china-facial-recognition-mobile-intl-hnk-scli/index.html
https://gizmodo.com/new-cell-phone-users-in-china-must-now-submit-to-face-r-1840146542
พิสูจน์อักษร: จิรัชญา ชัยชุมขุน
#Brief #TheMATTER