หนึ่งในผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เรารับรู้กันมานาน คือ การจากไปของเหล่าปะการังทั้งหลาย ซึ่งก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาค้นคว้าหาวิธีที่จะช่วยรักษาปะการังที่ใกล้จะตายมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่การนำปะการังไปปลูกในห้องแล็บ ไปจนถึงการทำให้พวกมันทนต่อมลพิษได้ ตอนนี้ มีงานวิจัยใหม่แนะนำว่า เสียงจากเหล่าปะการังที่สุขภาพดี ก็มีส่วนช่วยในการฟื้นฟูปะการังที่ตายแล้วเช่นกัน
การทดลองนี้มีชื่อว่า ‘Acoustic Enrichment’ โดยนักวิจัยเชื่อว่า การวางลำโพงใต้น้ำไว้ใกล้ๆ กับปะการังที่ตายแล้ว จะช่วยเรียกเหล่าปลาวัยเยาว์ให้กลับมาอาศัยและช่วยฟื้นฟูปะการังเหล่านี้ได้ ซึ่งนักวิจัยทดลองวางลำโพงที่บันทึกเสียงจากปะการังที่ยังสุขภาพแข็งแรงอยู่ มาไว้ริมแนวปะการังที่ตายแล้ว ตามแนวของ เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ (Great Barrier Reef) และพบว่า มีปลากลับมาอาศัยอยู่ที่ปะการังที่มีลำโพง มากกว่าปะการังที่ไม่ได้วางลำโพงไว้ถึง 2 เท่า และยังมีจำนวนสายพันธุ์เพิ่มขึ้นถึง 50% อีกด้วย
“โดยปกติแล้ว แนวปะการังที่สุขภาพดี จะเป็นที่ที่เสียงดัง ไม่ว่าจะเป็นเสียงก้ามกระทบกัน ของเหล่ากุ้งดีดขัน เสียงของปลาที่มารวมตัวกัน จนสร้างภูมิทัศน์ทางชีวภาพที่สวยงาม ซึ่งปลาวัยเยาว์จะเข้ามาหาเสียงเหล่านี้ เวลาที่พวกมันหาที่อยู่อาศัย” สตีฟ ซิมป์สัน (Steve Simpson) หนึ่งในผู้ร่วมวิจัย จากมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ (University of Exeter) กล่าว
ซิมป์สันกล่าวอีกว่า เมื่อสุขภาพของปะการังแย่ลง เสียงเหล่านี้ก็จะเงียบตามลงไปด้วย เพราะเหล่าสัตว์น้ำที่คอยสร้างเสียงต่างๆ พากันหนีหายไป แต่การนำลำโพงมาวางใกล้ๆ ปะการังที่ตายแล้ว จะช่วยคืนเสียงที่หายไปเหล่านี้ และสามารถดึงให้ปลาตัวเล็กตัวน้อยทั้งหลายกลับมาได้อีกครั้ง
ขณะที่ ทิม กอร์ดอน (Tim Gordon) หัวหน้าทีมงานวิจัย กล่าวว่า ปลาที่กลับมาอาศัยอยู่ตามแนวปะการัง จะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ และทำให้ปะการังกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง ทั้งยังบอกอีกว่า ปลาเป็นสิ่งสำคัญต่อแนวปะการัง ในการทำหน้าที่เป็นระบบนิเวศที่ดี และการเพิ่มประชากรปลาด้วยวิธีนี้จะช่วยเสริมกระบวนการฟื้นฟูตามธรรมชาติ เพื่อรับมือกับความเสียหายที่เห็นในแนวปะการังหลายแห่งทั่วโลก
เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยความยาว 2,300 กิโลเมตรนี้ ได้รับผลกระทบจากการฟอกขาวอย่างหนัก เพราะอุณหภูมิน้ำที่สูงกว่าปกติในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้ทำลายแค่ปะการังอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังลดความสามารถในการฟื้นฟูสภาพของปะการัง และเพิ่มความเสี่ยงของการล่มสลายทางนิเวศวิทยาอีกด้วย
ทีมนักวิจัยกล่าวอีกว่า พวกเขาติดตามการทดลองนี้เป็นเวลา 40 วัน ซึ่งก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ปลาที่อาศัยอยู่นั้น เป็นตัวเดิมหรือไม่ แต่ทั้งจำนวนปลาที่เพิ่มขึ้น และสปีชีส์ที่หลากหลาย ต่างก็เข้ามาอาศัยอยู่ที่ปะการังเหล่านี้ ขณะเดียวกัน ก็ยังต้องรับมือกับภัยคุกคามอื่นๆ อย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำประมงเกินขนาด และมลพิษทางน้ำ เพื่อปกป้องระบบนิเวศที่เปราะบางเหล่านี้ต่อไป
อ้างอิงจาก
https://www.foxnews.com/science/scientists-may-have-figured-out-how-to-save-coral-reefs
พิสูจน์อักษร: วัศพล โอภาสวัฒนกุล
#Brief #TheMATTER