ในประเทศไทย เด็กนักเรียนมีการสอบ วัดระดับจำนวนมากเต็มไปหมด ทั้งสอบในโรงเรียน ระดับประเทศ ไปจนถึงนานาชาติ แต่ล่าสุด มีการประกาศผลการประเมินการสอบโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ของปี 2018 ซึ่งพบว่า คะแนนของประเทศไทยลดลงในบ้างด้าน และไม่เปลี่ยนแปลงเลยในบางด้าน
การสอบ PISA เป็นการสอบที่เกิดขึ้นทุกๆ 3 ปี และให้นักเรียนอายุ 15 ปี ที่เป็นวัยซึ่งสำเร็จการศึกษาภาคบังคับเข้าร่วม แบ่งเป็นการสอบทั้งหมด 3 ด้าน คือ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน, ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งผลที่ออกมาของประเทศไทยพบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยในด้านการอ่าน 393 คะแนน ลดลงถึง 16 คะแนนจากการสอบเมื่อปี 2015 ซึ่งมีการสรุปจากการประเมินว่า ผลด้านการอ่านของไทย มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ส่วนในด้านของคณิตศาสตร์ ไทยได้ 419 คะแนน เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน 3 คะแนน และวิทยาศาสตร์อยู่ที่ 426 คะแนน เพิ่มขึ้น 4 คะแนน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อดูคะแนนของทุกด้านพบว่า คะแนนของไทย ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ทุกด้าน
ผลของการประเมินยังพบว่า มีช่องว่างระหว่างคะแนนของเด็กไทย โดยเด็กกลุ่มที่ได้คะแนนสูง และต่ำ มีช่วงคะแนนที่ห่างกันถึง 200 คะแนน โดยกลุ่มโรงเรียนที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์จะมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศ /เศรษฐกิจที่มีคะแนนสูง Top 5 ในขณะที่กลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD
ทั้งจากผล ยังมีการตั้งข้อสังเกต 3 ข้อ คือ 1) ไทยสามารถพัฒนานักเรียนให้คุณภาพสูงได้ หากมีนโยบายที่สร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษา และขยายระบบการศึกษาที่มีคุณภาพทั่วถึง 2) นักเรียนไทยทุกกลุ่มมีจุดอ่อนที่การอ่าน จึงควรส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปในการเรียนการสอน และ 3) ระบบการศึกษาไทยต้องยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนอย่างเร่งด่วน เพราะมีแนวโน้มที่คะแนนด้านนี้จะลดลงต่อเนื่อง
การสอบ PISA2018 มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 600,000 คน จาก 79 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ โดยประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดในทุกด้าน คือจีน โดยเฉพาะใน 4 มณฑล (ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง) และสิงคโปร์ ซึ่งได้คะแนนสูงกว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจเลยด้วย
อ้างอิงจาก
https://pisathailand.ipst.ac.th/news-12/
#Brief #TheMATTER