ไม่อยากไปโรงเรียน คงเป็นความรู้สึกที่หลายๆ คนเคยรู้สึกในสมัยที่เป็นนักเรียน ไม่ว่าจะตั้งแต่แรกเริ่มเข้าอนุบาล หรือจนกระทั่งอยู่มัธยม แต่ที่ญี่ปุ่น ตอนนี้กำลังเจอกับสถานการณ์ที่จำนวนเด็กในประเทศ เลิกไปโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น เพราะมองว่าชีวิตในโรงเรียน เป็นปัญหาและเป็นความทุกข์ทรมานด้วย จนเกิดการตั้งคำถามกับระบบของโรงเรียน
ปรากฎการณ์ที่เด็กๆ ปฏิเสธที่จะไปโรงเรียนถูกเรียกว่า ‘futoko’ คำนี้ได้รับการแปลไว้หลายความหมายเช่นว่า ขาดเรียน, การละทิ้งหน้าที่, หรือความหวาดกลัวโรงเรียนหรือการปฏิเสธโรงเรียน โดยเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่น นิยามว่าเป็น futoko คือ เด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียนมากกว่า 30 วันด้วยเหตุผลที่ไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหรือการเงิน ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศนักเรียนประถม และมัธยมต้น ที่ขาดเรียนเกิน 30 วันสูงเป็นประวัติการณ์
โดยมีเด็กจำนวน 164,528 คน ที่ขาดเรียน 30 วันหรือมากกว่าในช่วงปี 2018 เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ที่มีจำนวน 144,031 คน ที่จากการสำรวจของกระทรวงศึกษาฯ พบว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กๆ เลิกไปโรงเรียนคือ ปัญหาครอบครัว ปัญหาส่วนตัวกับเพื่อน และการกลั่นแกล้ง ในขณะที่สาเหตุทั่วไปในการลาออกของโรงเรียน ยังมีเรื่องการเข้ากับนักเรียนคนอื่น หรืออาจารย์ไม่ได้ด้วย และนอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องกฎระเบียบที่เข้มงวดของโรงเรียน เช่น การกำหนดสีของชุดชั้นใน หรือสั่งให้ต้องย้อมผมสีดำเท่านั้น
การออกจากโรงเรียนอาจส่งผลระยะยาวและมีความเสี่ยงสูงที่เด็กๆ จะปลีดตัวจากสังคม ปิดกันตัวเองในห้อง ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่าฮิคิโคโมริ ถึงอย่างนั้น การเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโรงเรียนทางเลือก หรือโรงเรียนอิสระ ก็มีเพิ่มมาขึ้นในญี่ปุ่น เพื่อตอบสนองต่อ futoko ที่เพิ่มมากขึ้น โดยโรงเรียนเหล่านี้ได้รับการยอมรับสำหรับการศึกษาภาคบังคับ และการเรียนโฮมสคูล ซึ่งพบว่านักเรียนที่เข้าเรียนในโรงเรียนแนวนี้ แทนโรงเรียนปกติ เพิ่มขึ้นจำนวนมาก จาก 7,424 คน ในปี 1992 เป็น 20,346 ในปี 2017
โทโมเอะ โมริฮาชิ (Tomoe Morihashi) นักเรียนวัย 12 ปี เล่าว่า เธอรู้สึกไม่สะดวกสบายกับคนจำนวนมาก และกฎระเบียบที่เคร่งครัดของโรงเรียน ส่งผลให้ชีวิตในโรงเรียนของเธอเจ็บปวด จนเธอกลายภาวะไม่ยอมพูดเมื่ออยู่ในโรงเรียน (selective mutism) ซึ่งภายหลังเธอได้ออกจากโรงเรียน และเข้าเรียนในโรงเรียนอิสระแทน เช่นเดียวกับ ยูตะ อิโตะ (Yuta Ito) เด็กชายวัย 10 ขวบที่ออกจากโรงเรียน และผู้ปกครองเลือกให้เขาเข้าเรียนโรงเรียนอิสระ เพราะการถูกกลั่นแกล้ง และทะเลาะกับเพื่อนๆ
ปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนของญี่ปุ่นเอง ก็ถือเป็นประเด็นใหญ่ โดยผลการสำรวจล่าสุดของกระทรวงศึกษาธิการฯ ยังพบว่า จำนวนผู้ที่ถูกรังแกในโรงเรียนทั่วญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 543,933 คนในปีการศึกษา 2018 ซึ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาและเพิ่มขึ้น 129,555 จากปีการศึกษา 2017 ทั้งจำนวนการฆ่าตัวตายในโรงเรียนปี 2018 ยังมากที่สุดในรอบ 30 ปี ด้วยจำนวน 332 รายด้วย
อ้างอิงจาก
https://mainichi.jp/english/articles/20191017/p2a/00m/0na/024000c
#Brief #TheMATTER